เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้วันที่ 26 ก.ค.ของทุกปี เป็น วันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ “วันป่าชายเลนโลก” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน ในส่วนของประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เสนอประกาศพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ 24 จังหวัด เพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้คงสภาพธรรมชาติ และมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ตนเคยย้ำหลายครั้งถึงความสำเร็จในการดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยว่า เป็นเพราะความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคนที่ช่วยกันดูแลและรักษาผืนป่าชายเลนของประเทศไทย จนเป็นข่าวดีจากการอ่านแปลภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดปี พ.ศ.2563 ของ GISDA พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ เนื้อที่ 1.74 ล้านไร่ เพิ่มจาก ปี พ.ศ.2557 ที่มีอยู่ 1.53 ล้านไร่ได้พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ไร่ คงเป็นไปได้ยากหรืออาจต้องใช้เวลานานมากที่หน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียวจะดำเนินการให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นได้มากขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ทุกคนอยากเห็นคือพื้นป่าชายเลนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ทุกปี ตนยังเชื่อมั่นในพลังของพี่น้องประชาชนที่จะช่วยกันดูแล รักษา อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายและย้ำกับนายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว. และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ในการหามาตรการและแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชน องค์กรเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรฯ กล่าวว่า การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมฯ ได้ดำเนินการในทุกมิติอย่างจริงจังมาโดยตลอด นอกจากนี้ กรมฯ ได้เตรียมประกาศพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติแล้วจำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ระนอง เพชรบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี
โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศบังคับใช้ ต่อไป และเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศระเบียบกรมทรัพยากรฯ จำนวน 4 ฉบับ ว่าด้วยการเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่าย การปลูกและบำรุงป่าชายเลน การจัดหาและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ป่าชายเลน และการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางและมาตรฐานในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
นายโสภณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก ยังมุ่งเน้นและส่งเสริมการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนด้วย โดยในปัจจุบันมีพื้นที่พร้อมดำเนินการกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรฯ ได้เร่งรัดดำเนินการเรื่องฟื้นฟูป่าชายเลนและการปลูกบำรุงป่าเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้เป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดในอนาคต ต่อไป
ด้านนายสนิท อักษรแก้ว ประธานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ (International Society for Mangrove Ecosystems) กล่าวว่า ป่าชายเลนพบเห็นได้ใน 120 ประเทศทั่วโลกที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ป่าชายเลนมีคุณค่าและความสำคัญนานัปการทั้งเป็นแหล่งฟักไข่ การเจริญเติบโตและหลบภัยของสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนชายฝั่ง เป็นแหล่งสมุนไพรยารักษาโรค เป็นแหล่งพลังงานช่วยดักตะกอนสิ่งปฏิกูลและสารพิษที่จะถูกปลดปล่อยลงสู่ชายฝั่งและทะเล ช่วยป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ลดความรุนแรงของคลื่นลมและที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่มีปริมาณสูงมากในการช่วยลด สภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาค่อนข้างวิกฤติของโลกในทุกวันนี้