พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สะท้อนชัดเจนถึงหลักการทรงงาน เพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับน้ำ อันเป็นทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืช สัตว์ และมนุษย์ ดังเช่น พระราชดำรัส ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2539 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภคและน้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกเพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ ได้ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..”
ด้วยพระราชหฤทัยอันตั้งมั่นที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานแห่งองค์พระบรมชนกนาถ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรทุกหมู่เหล่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด นำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสร้างประโยชน์สุขให้ราษฎรอย่างยั่งยืนบนผืนแผ่นดิน
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง เป็น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ต้นแบบ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤติภัยแล้ง จำนวน 15 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุก “ภูมิสังคม” ของประเทศไทย ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และพัทลุง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทุกพื้นที่ จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 37,600 ครัวเรือน หรือ 143,000 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 557,000 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 11.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยประหยัดรายจ่ายให้ประชาชนกว่า 500 ล้านบาทต่อปี จากการได้มี น้ำดื่มสะอาดบริการฟรี
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา
สำหรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัด หนองบัว หมู่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการ ซึ่งเดิมประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นเวลาหลายสิบปี และเป็น 1 ใน 5 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อำเภอเลาขวัญ ห้วยกระเจา บ่อพลอย หนองปรือ และพนมทวน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อีสานภาคกลาง” เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และเป็นพื้นที่เงาฝน ไม่มีระบบชลประทาน ประชาชนในตำบลหนองฝ้ายต้องจ้างรถบรรทุกน้ำ สำหรับใช้อุปโภคบริโภคทำให้มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 5 ล้านบาทต่อเดือน
รูปแบบโครงการ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล จำนวน 8 บ่อ ความลึกเฉลี่ย 200 เมตร ถังเหล็กเก็บน้ำมีความจุ 2,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดันความจุ 300 ลูกบาศก์ เมตร จำนวน 2 ถัง พร้อมทั้งระบบท่อกระจายน้ำ ปัจจุบันโครงการดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2564 และส่งมอบให้ ท้องถิ่นและจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อบริหารจัดการระบบต่อไปโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ก่อสร้างระบบ ประปาและวางท่อกระจายน้ำในพื้นที่รอบโครงการ รวมระยะทาง 5.4 กิโลเมตร องค์การบริหารส่วนตำบลหนองฝ้าย เชื่อมต่อระบบประปาที่มีอยู่เดิมเพิ่มอีก 7.8 กิโลเมตร และจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการวางระยะ ท่อเพิ่มเติม 10.1 กิโลเมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองฝ้ายทั้งหมด รวมระยะท่อส่งน้ำทั้งโครงการ 23.3 กิโลเมตร
ในอนาคตจังหวัดกาญจนบุรีมีแผนจะขยายระบบกระจายน้ำเพื่อให้ครอบคลุมทั้งอำเภอเลาขวัญ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 11,600 ครัวเรือน หรือ 58,000 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำบาดาลอย่างทั่วถึง
จากผืนดินที่แห้งแล้งจนได้ชื่อว่าเป็น “อีสานภาคกลาง” เกษตรกรบางคนเกิดและเติบมาถึงวันใกล้เกษียณ ต้องหาบน้ำแสนหนักจากบ่อน้ำที่อยู่ภายในหมู่บ้านเพื่อมาใช้ในการอุปโภคบริโภคมาตลอดชีวิต หรือบางคนไม่มีน้ำใช้ในการเกษตรหรือปศุสัตว์ ต้องเสียเงินเพื่อใช้ในการสูบน้ำจากบ่อเพื่อมาทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ชีวิตเป็นอยู่แสนยากเข็ญ แต่มาวันนี้ชีวิตของชาวบ้านตำบลเลาขวัญ กลับมาชุ่มชื่นด้วยพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ภัยแล้ง ไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ ทำให้ทุกคนที่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืนและเป็นสุข
นายพนม ล้อมวงษ์
พนม ล้อมวงษ์ อดีตกำนันตำบลเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ เกษตรกรที่ใช้ประโยชน์จากโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้บริจาคที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการ กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่า จังหวัดกาญจนบุรี ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่อีสานภาคกลาง เพราะประสบกับปัญหาภัยแล้งมาตลอด ฝนทิ้งช่วงนานถึง 5-6 เดือน ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองฝ้าย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อย่างปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยอยู่แล้ว ก็ยังไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เท่าที่ควรเพราะประสบกับภัยแล้งนานหลายเดือน หรือแม้แต่อาชีพปศุสัตว์ ก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีน้ำใช้ แต่เมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมา แม้จะเพิ่งใช้งานได้เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น แต่ก็สามารถมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการบริโภคอุปโภคและทำการเกษตร ซึ่งในอนาคตเขาตั้งใจจะต่อยอดในสิ่งที่ในหลวงพระราชทานแหล่งน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด
“สมัยที่ผมเป็นกำนันเห็นว่าโครงการน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งให้ประชาชนในพื้นที่เป็นโครงการที่ดี เพราะชาวบ้านจะได้มีน้ำกินน้ำใช้และการเพาะปลูก จึงบริจาคที่ดินให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเรื่อยมาจนถึง 10 ไร่ เพราะที่จังหวัดกาญจนบุรีอย่างที่หลายคนทราบว่าแห้งแล้งเหลือเกิน ฝนทิ้งช่วงนาน ทำให้ชาวบ้านมีน้ำไม่พอสำหรับกินใช้ในครัวเรือน ส่วนเรื่องเพาะปลูกเราก็เลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยอย่างอ้อย มันสำปะหลัง แต่น้ำก็ยังไม่พอ ขายผลผลิตไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนเหลือเกิน แต่พอมีโครงการของในหลวงซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในครัวเรือนและยังเหลือสำหรับเพาะปลูกอีกด้วย ตอนนี้เรากำลังส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย อย่างหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งตอนนี้เรามีตลาดเพื่อส่งออกไปขายแล้ว และก็ปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เลี้ยงวัว เพราะอีกหนึ่งอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี้คือเลี้ยงวัวเพื่อจำหน่ายลูกวัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมไปถึงในอนาคตเราจะปลูกผักปลอดสารเคมีเพื่อจำหน่าย พวกเราทุกคนจะพยายามต่อยอดในสิ่งที่ในหลวงท่านได้พระราชทานไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่พวกเราจะทำได้ ชาวบ้านทุกคนที่ตำบลเลาขวัญเทิดทูนและรักในหลวงกับพระราชินีที่สุด ขอให้ทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญ” อดีตกำนันพนม กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
นางสุจริต เปี่ยมชัย เกษตรกร
ด้าน นางสุจริต เปี่ยมชัย อายุ 53 ปี เกษตรกรในตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ เล่าว่า ตัวเองอาชีพปลูกมันสำปะหลังขาย แต่ก็ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำผลผลิตจึงได้ไม่ค่อยดี และตั้งแต่จำความได้ต้องไปหาบน้ำจากบ่อน้ำในหมู่บ้านเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือน ชีวิตลำบากมาก แต่เมื่อมีโครงการของในหลวง ชีวิตที่ผ่านมา 53 ปี ก็เพิ่งจะมาสบาย ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการไปแบกหามน้ำจากในหมู่บ้านมาใช้อีกแล้ว
“ตั้งแต่จำความได้ ป้าต้องไปหิ้วน้ำจากบ่อน้ำประจำหมู่บ้านเพื่อเอามาใช้ในบ้าน ต้องไปหาบน้ำกันทุกวันมาเทใส่ถังน้ำไว้ แต่พอมีโครงการน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งในพระราชดำริของในหลวง เราก็สามารถต่อน้ำจากถังเก็บน้ำบาดาลมาใช้ภายในบ้านได้เลยไม่ต้องไปหาบน้ำมาใส่ถังน้ำในบ้านอีกแล้ว ส่วนมันสำปะหลังเราก็มีน้ำเพียงพอในการดูแลมัน และตอนนี้ป้ากำลังจะปลูกผักชนิดอื่นเพิ่มเพื่อนำไปขายเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งมาดูแลครอบครัว พวกเราทุกคนอยากจะพูดดังๆ ว่า รักในหลวงและพระราชินีมากค่ะ ขอให้ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์และแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของราษฎรตลอดไป”
นับได้ว่าพสกนิกรทุกหมู่เหล่าร่มเย็นเป็นสุขด้วยพระบารมีที่ทรงพลิกผืนพสุธา สู่ธาราแห่งชีวิต ให้ปวงพสกนิกรอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขใต้ร่มพระบารมี.