นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวเมื่อไม่มานี้ว่า ขณะนี้ มนุษยชาติครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อันตรายแล้ว อีกทั้ง ยังมีประชากรโลกอีก 1 ใน 3 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา และรัฐพัฒนาแล้วที่เป็นเกาะเล็กๆ ซึ่งระบบเตือนภัยยังไม่ครอบคลุมพื้นเหล่านี้

ปัจจุบันนี้ มีภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศมากกว่าช่วงทศวรรษที่ 1970 มากถึง 5 เท่า โดยข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ระบุว่า ภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน และพายุ ได้คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้วมากกว่า 2 ล้านราย และก่อให้เกิดความสูญเสียกว่า 3.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว 121.76 ล้านล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2513

นายเพ็ตตารี ตาลัส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ที่คาดว่าจะแย่ลง เพราะผลจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มอีก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 50,174.25 ล้านบาท) ภายในระยะเวลาอีก 5 ปี ข้างหน้า สำหรับการจัดทำระบบเตือนภัยสภาพอากาศรุนแรง และภัยพิบัติในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ยูเอ็นจัดสรรงบประมาณทั้งหมดสำหรับโครงการเหล่านี้ไปแล้วเท่าไหร่ แต่มีการประกาศออกมาแล้วส่วนหนึ่ง ในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ณ เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ เมื่อช่วงเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว

ในเมื่อภัยธรรมชาติเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ และต่อเนื่อง ระบบเตือนภัยจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่มีบทบาทในการช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ประมาณ 76% นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 เนื่องจากระบบเตือนภัยเหล่านี้ทำให้ประชาชนมีเวลาเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น และกระตุ้นให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยดังกล่าวยังสามารถช่วยปกป้องเศรษฐกิจอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การเตือนภัยพายุล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ทำให้ลดอัตราความเสียหายได้ประมาณ 30% ตามรายงานของ “Global Commission on Adaptation” เมื่อปี 2562 อีกทั้ง รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังเสนอแนะว่า การลงทุนประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26,759.60 ล้านบาท) สำหรับระบบเตือนภัยล่วงหน้าภายในประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียว จะสามารถบรรเทาความสูญเสียต่อปี ได้มากถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 535,192 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม นายโมฮัมเหม็ด อาโดว์ ผู้อำนวยการของ พาวเวอร์ชิฟท์ แอฟริกา หนึ่งในสถาบันวิชาการ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ให้ความเห็นว่า แม้ผู้คนรอดชีวิตจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศ แต่การถูกทิ้งให้ดูแลตัวเองกับบ้านเรือน และวิถีชีวิตที่ถูกทำลาย นี่ก็ไม่ใช่ความโชคดีเท่าใดนัก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES