พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีความห่วงใยด้านสาธารณสุขของประชาชน จึงทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนไทยทุกหมู่เหล่าเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียม โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิด “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” ณ โรงพยาบาลศิริราช โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงเฝ้าฯ รับเสด็จ
“อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” เป็นอาคารที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อศูนย์การแพทย์แห่งนี้ว่า “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” มีความหมายว่า “ปวงพสกนิกรต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา” โดยมุ่งหวังให้อาคารแห่งนี้ตอบสนองการให้บริการทางการแพทย์ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงเพิ่มคุณภาพการบริการอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้าง “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มอีก 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ใน “อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน
อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีชั้นพื้นดิน 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,551 ตารางเมตร สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพโดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,00 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี ขณะที่เตียง ICU เพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง ที่สำคัญภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษในแต่ละชั้น
ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนพร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็ก (MR Linac) เป็นเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนพร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเครื่องแรกและเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีจุดเด่นในการฉายรังสีปริมาณสูงพร้อมไปกับการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในแต่ละวันของการฉายรังสีได้ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของก้อนมะเร็งและอวัยวะข้างเคียงได้อย่างชัดเจน เพิ่มความแม่นยำในการฉายรังสี
นอกจากนี้ ในขณะฉายรังสี เครื่อง MR Linac สามารถให้ข้อมูลภาพ MRI แบบ Real-time ทำให้สามารถติดตามตำแหน่งของผู้ป่วยและก้อนมะเร็งรวมถึงอวัยวะข้างเคียงได้ตลอด หากพบว่ามีการเคลื่อนที่ออกนอกขอบเขตที่วางแผนไว้หรือตำแหน่งของอวัยวะข้างเคียงเคลื่อนที่เข้ามาในบริเวณที่ฉายรังสีมากจนเกินไป สามารถที่จะหยุดการฉายรังสีและปรับตำแหน่งให้ตรงเพื่อเริ่มฉายรังสีใหม่ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยได้รับในเวลาเดียวกัน
เครื่อง MR Linac ยังมีจุดเด่นที่สำคัญที่เครื่องฉายรังสีอื่นๆ ทำไม่ได้ คือกาที่แพทย์สามารถปรับแผนการฉายรังสีให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยในแต่ละวันให้สอดคล้องกับตำแหน่งของตัวโรคและรูปร่างของตัวโรคในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีลักษณะของก้อนมะเร็งที่เปลี่ยนไปทั้งตำแหน่งและรูปร่าง ด้วยระบบ Online Adaptive Planning System อันชาญฉลาด ก่อนเริ่มการรักษาในวันนั้นๆ ทำให้แพทย์และผู้ป่วยมั่นใจว่าสามารถรักษาได้อย่างตรงจุดที่สุด และยังสามารถรองรับการฉายรังสีได้หลากหลายโรค โดยเฉพาะโรคที่ในอดีตการฉายรังสีเป็นไปได้ยากเนื่องจากตัวก้อนมีการเคลื่อนไหวในขนาดฉายรังสี ดังเช่น มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยเครื่องฉายรังสี MR Linac ได้ทั้งหมด
หนึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่อง MRLINAC เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนพร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็ก (MR Linac) ที่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา กล่าวด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ว่า เขาได้เข้ารับการฉายแสงเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช นับเป็นความโชคดีและปลื้มปิติอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทั้งสองพระองค์มิได้ทรงทอดทิ้งในความทุกข์ยากของราษฎร ทุกความแสนเข็ญของปวงประชาล้วนอยู่ในสายพระเนตรเสมอมา
“ได้มาฉายแสงเครื่องที่พระองค์ท่านพระราชทานพระราชทรัพย์ให้โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรักษาประชาชนของพระองค์ท่านให้หายจากอาการป่วยไข้ รู้สึกดีใจที่พระองค์ไม่ทิ้งประชาชน พระองค์ก็ยังทรงห่วงใยราษฎรของพระองค์พูดไม่ออกเหมือนกัน มันตื้นตันรักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ของประเทศไทยครับ”
ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องฟอกไต อันเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ได้พระราชทานให้แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า โรงพยาบาลศิริราชได้เปิดตึกใหม่ และยิ่งดีใจเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวที่ได้ทราบว่าในหลวงได้พระราชทานเครื่องฟอกไตมาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคไต ก็รู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ ที่ทรงคอยดูแลความทุกข์สุขของประชาชน ขอให้พระองค์ท่านทั้งสองพระองค์ทั้งในหลวงและพระราชินีทรงพระเจริญ
ปิดท้ายที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการเปลี่ยนหัวใจ กล่าวทั้งน้ำตาแห่งความปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ว่า เขาป่วยเป็นโรคหัวใจเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ชีวิตที่ผ่านมาเหมือนคนสิ้นหวังด้วยมีโรคร้ายมารุมเร้า แต่ก็รอดชีวิตมาได้เพราะในหลวง และพระราชินี ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่อสบทบทุนในการสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาขึ้นมา “ขอบคุณพระองค์ท่านที่ช่วยชีวิต ที่ช่วยสร้างตึกนี้ขึ้นมาให้ชาวบ้านให้ประชาชนได้รักษาตัว เป็นพระคุณอย่างสูงเลยครับผมเป็นคนยากคนจนมาจากต่างจังหวัดได้มารับการรักษา ได้มารอดชีวิตที่ศิริราช ถ้าไม่มีพระองค์ท่านคงลำบาก ขอบคุณพระองค์ท่านที่ได้ช่วยชีวิตครับ”
กาลเวลาได้เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขดูแลปกป้องพสกนิกรอย่างทั่วถึง ได้สะท้อนถึงพระราชปณิธานแน่วแน่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดั่งที่พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”