ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่แทบกลบมิดทุกประเด็น วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุม คณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.นี้ ที่มีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยเป็นการประชุมทางไกลเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 26 ก.ค.นี้ มีวาระพิจารณาที่น่าจับตาคือการเสนอขึ้นทะเบียน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่ประเทศไทยพยายามผลักดันมาตลอดหลายปี
ท่ามกลางปมประเด็นขัดแย้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยง” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทำให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกให้ไทยต้องนำกลับมาทบทวนและจัดทำข้อมูลใหม่เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการมรดกมาแล้วหลายรอบ
ยิ่งล่าสุดในปีนี้ที่สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา จนหลายหน่วยงาน และองค์กรภาคประชาชนเสนอให้ไทยชะลอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่งกระจานออกไปก่อน เพราะการแก้ปัญหาในพื้นที่ยังไม่ได้ข้อยุติเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
แต่ทางฟาก “รมต.ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นคนละเรื่องกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ พร้อมเดินหน้าชงขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลกต่อไป
ดังนั้นวันนี้จึงต้องจับตาฝีมือของทีมคณะผู้แทนไทยที่นำโดย “สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว” อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะสามารถผลักดันการขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลกได้สำเร็จในปีนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตามในขณะที่ประเทศไทยพยายามเสนอขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ กลุ่มป่า “มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2548 กลับอยู่ในสถานะที่เสี่ยงถูกจัดลำดับเป็นมรดกโลกในภาวะอันตรายมาตลอดหลายปี จากภัยคุกคามต่างๆ ในแหล่งมรดกโลก แม้จะยังไม่ถูกจัดอันดับเป็นมรดกโลกในภาวะอันตราย แต่ปีนี้คณะกรรมการมรดกโลกมีข้อมติเตือนประเทศไทยขอให้ยุติและล้มเลิกแนวคิดการสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อย่างถาวร
คำเตือนจากยูเนสโกเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องสดับรับฟัง เราอยากได้มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ไว้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศท่ามกลางปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม ในขณะที่ของเก่าที่ขึ้นทะเบียนมาถึง 16 ปี ก็ยังต้องมาลุ้นสถานภาพการอนุรักษ์อยู่ทุกปี เป็นโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตีให้แตกและเร่งแก้ปัญหาให้จบโดยเร็ว.