เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 บริษัท ไบโอเบส ยุโรป ไพล็อท แพลนท์ (BBEPP) ประเทศเบลเยี่ยมและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประเทศไทย ประกาศเปิดบริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (BBAPP) ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แบบอเนกประสงค์ (multipurpose biorefinery pilot plant) สร้างขึ้นในพื้นที่ “ไบโอโพลิส (Biopolis)” เมืองนวัตกรรมชีวภาพที่รองรับการทำวิจัยขยายผลซึ่งเป็นแพลทฟอร์มนวัตกรรมตั้งอยู่ที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและส่งออกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ปัจจุบันพบว่าชีวมวลมากกว่า 40 ล้านตันยังไม่ได้รับการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งช่องว่าง (gap) นี้ถือเป็นโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีที่สามารถเปลี่ยนชีวมวลเป็นพลังงาน เคมีภัณฑ์ และวัสดุชีวภาพ ช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรและผลพลอยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ศาสตราจารย์ วิม ซูทาร์ต (Porf. Wim Soetaert) ซีอีโอของ บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ กล่าวว่า “บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีคุณสมบัติโดดเด่น แตกต่างจากบริษัทอื่นๆที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกันเนื่องจาก BBAPP มีพันธกิจในการพัฒนาและขยายขนาดผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (biobased products) และกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน” โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในระดับขยายขนาดกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับนำร่อง และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ BBAPP ยังช่วยผู้ประกอบการการในวิเคราะห์ความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์ และช่วยในการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด ก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า “BBEPP และ สวทช. ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ ในรูปแบบการร่วมทุน (joint venture) ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนทั้งในส่วนเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่” บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการก่อตั้งบริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ ในประเทศไทยได้ลงนามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2019 “ข้อได้เปรียบของ BBAPP ซึ่งเกิดจากการรวมสิ่งที่ดีที่สุดจากพันธมิตรแต่ละฝ่ายทั้งเงินทุน know-how และความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ช่วยให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้ BBAPP ขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจประเภทเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน” ดร.สมวงศ์ ตระกูลรุ่ง ประธานกรรมการบริหาร BBAPP กล่าว
BBEPP เป็นผู้ให้บริการระดับโลก (world-class service provider) ในเรื่องการพัฒนากระบวนการ การบริการขยายขนาดการผลิต และการผลิตผลิตภัณฑ์และกระบวนการชีวภาพตามความต้องการของลูกค้า (custom manufacturing) BBEPP มีชื่อเสียงในการดำเนินงานในลักษณะกระบวนการผลิตที่เป็นแบบโมดูล (modular design) ย่อยมาเชื่อมต่อทำงานร่วมกัน ทำให้มีความคล่องตัวในการรองรับกระบวนการแปรรูปชีวมวลจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เทคโนโลยี และรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ BBEPP เป็นประโยชน์ที่สำคัญต่อความร่วมมือนี้
สวทช.โดยการลงทุนของรัฐบาลไทยในการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนในประเทศไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และความเชี่ยวชาญในส่วนต้นน้ำของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ครอบคลุมการพัฒนาเอนไซม์และผลิตภัณฑ์เอนไซม์จากชีวมวลที่มีอยู่มากมายในประเทศถือเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการร่วมทุน นอกจากนี้สวทช.ยังช่วยสนับสนุนฐานลูกค้าและเครือข่ายภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ ประกอบด้วยโรงงานต้นแบบทั้งในแบบ GMP (Good Manufacturing Practice) และ Non-GMP ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน โรงงานต้นแบบ Non-GMP จะสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวเคมี วัสดุชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่โรงงานต้นแบบ GMP จะสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง และโภชนเภสัชภัณฑ์ (nutraceuticals) ครอบคลุมบริการตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ (Upstream process) จนถึงกระบวนการปลายน้ำ (Downstream process) ประกอบด้วยการปรับสภาพชีวมวล (biomass pretreatment) เทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม (การหมักจุลินทรีย์และปฏิกิริยาทางชีวภาพ: microbial fermentation and biocataysis) กระบวนการเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green chemistry) และกระบวนการปลายน้ำ (downstream processing) เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบชีวมวลที่มีมูลค่าต่ำให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงหลากหลายประเภท
ขณะนี้บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและจะเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ 2567