เราต้องยอมรับว่าการแข่งขันทางธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกปัจจุบัน เม็ดเงินมหาศาลถูกทุ่มเพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม แต่เงินลงทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียวในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม “ทรัพยากรธรรมชาติ” คือ ต้นทุนแห่งการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่คำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ย่อมไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันหลายฝ่ายเริ่มวิตกกับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกต่างยกแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ รวมถึงประเทศไทย ที่ล่าสุดได้ประกาศแผนแก้ไขปัญหาความยากจน โดยรัฐบาลพยายามผนวกการดำเนินงานในทุกด้านเพื่อแก้ไขปัญหาการทรุดตัวของเศรษฐกิจของประเทศ แต่คงต้องฝ่ายผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่าลืมเรื่องความสมดุลของใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและสมดุล และคงต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตอย่างจริงจัง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การนำของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ได้สั่งการให้นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลทรัพยากรทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่กรม ให้ความสำคัญ อย่างเมื่อเร็วๆนี้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) พร้อมด้วยนางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายไพรัตน์ สุทธิพล ผู้แทนจากกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบ Web Conference โปรแกรม Zoom ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชั้น 8 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ Zoom เพื่อติดตามเรื่องตามข้อสั่งการเตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบต่อการทำประมงนอกน่านน้ำใน SIOFA และความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ รวมถึงความก้าวหน้ากรณีกฎหมายของกรมอุทยานฯ ในการดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย อีกทั้ง เพื่อทราบถึงผลการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมง IUU ครั้งที่ 5 และสรุปข้อมูลตามมาตรา 9 ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ปี 2564 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการขอรับจัดสรรงบกลาง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และนโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ. 2566 – 2570 ตลอดจนร่วมหาแนวทาง และมาตรการในการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมง IUU รวมถึงเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและต่อเนื่อง ต่อไป

หรือแม้กระทั่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ประชุมหารือการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศ เพื่อหารือถึงแนวทางและขั้นตอนการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER สำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอกที่แสดงความจำนง เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต รวมทั้งหารือถึงประเด็นกรอบระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อแก้ไขปรับปรุงคู่มือการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ต่อไป

“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะขอทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรของชาติให้ดีที่สุด ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ที่ให้ความสำคัญเพื่อความคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ต่อไป” นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวทิ้งท้าย.