พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการขยายเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จากเมืองต้นแบบ 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เพื่อยกระดับการพัฒนา 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา คือ อ.จะนะ, นาทวี, เทพา และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูง มีโครงการการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ เมื่อพิจารณาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ อ.จะนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะพิเศษ พบว่ายังเป็นโครงข่ายทางหลวงขนาดเล็ก ออกแบบเพื่อการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทางการเกษตร มีถนนสายหลักเพียง 2 สาย คือ ทางหลวงหมายเลข 43 และ 408 ขนาด 4 ช่องจราจร หากมีการพัฒนาเป็น “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ถนนดังกล่าวไม่สามารถรองรับความเจริญที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังต้องมีการเชื่อมต่อการขนส่งในระบบราง และการเชื่อมโยงโครงข่ายทุกรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ
โดย ศอ.บต.ได้ร่วมกับสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร ( สขน.) เพื่อศึกษา สำรวจ วิเคราะห์สภาพการจราจร และมาตรฐานการจัดระบบจราจร และ อบจ.สงขลา ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีภารกิจ มีอำนาจในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น จึงได้ดำเนินการโครงการศึกษาออกแบบระบบโลจิสติกส์ทางบกในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากในการพัฒนา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ ศอ.บต.ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาออกแบบโลจิสติกส์ทางบกในพื้นที่ อ.จะนะ โดยจะจัดให้มีการประชุมสัมมนาแนะนำโครงการผ่านระบบประชุมสัมมนาทางไกล เพื่อนำเสนอแนวคิด และวัตถุประสงของโครงการ ให้ผู้แทนส่วนราชการการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่มีส่วนได้เสียรับทราบ ในวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 09.00-12.00 น. ผ่านการประชุมทางไกล ด้วยระบบซูม ซึ่งขณะนี้ทางผู้จัดได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมในครั้งนี้แล้ว เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและออกแบบต่อไป .