นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. เปิดเผยสถิติการรับเรื่องร้องเรียนของ ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์กรุงเทพมหานคร ประปีงบประมาณ 2564 ว่า มีเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์จากประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ 72,486 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขแล้ว 71,210 เรื่อง จำแนกตามประเภทสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. เหตุเดือดร้อนรำคาญ 2. เรื่องฉุกเฉิน (โควิด-19) 3. ไฟฟ้า 4. กระทำผิดในที่สาธารณะ และ 5. ขยะและสิ่งปฏิกูล
สำหรับเรื่องรับแจ้งเกี่ยวกับโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เช่น มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาด การจัดสรรวัคซีน การแจ้งเบาะแส การขอเตียง ขอรถ การไม่ได้รับความสะดวกเกี่ยวกับการให้บริการศูนย์พักคอยหรือสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ การรวมกลุ่ม มั่วสุม หรือนั่งพูดคุยกันเป็นกลุ่ม การที่กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่กักตัว เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 กทม. มีแนวทางปรับเพิ่มประสิทธิภาพติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน หรือร้องทุกข์ผ่าน 6 ช่องทาง ดังนี้ 1. สายด่วน กทม. 1555 2. เว็บไซต์ www.bangkok.go.th/rongtook และเว็บไซต์ของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่ง 3. สื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Facebook : ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร/ศูนย์ กทม.1555 และ Twitter : @bma 1555 4. จดหมายถึงกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200 5. จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) : [email protected] และ 6. ยื่นคำร้องด้วยตนเอง ณ ศาลาว่าการ กทม. และหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนากระบวนงานการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติงานที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังจะมีการจัดทำระบบบริหารจัดการคำถามและรับแจ้งปัญหาเมือง ซึ่งพัฒนาให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ Chatbot และ Mobile Application ความรวดเร็วในการแก้ไขมากขึ้นด้วย.