หลังจากทีมข่าว “Special Report” นำเสนอเรื่องราวราคา “ทองคำ” พุ่งสูงกว่าบาทละ 31,000 บาท ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อ แต่ราคาเริ่มกลับมานิ่ง เคลื่อนไหวน้อยในสัปดาห์นี้
นอกจาก “ทองคำ” แล้ว! คงต้องพูดถึงเรื่อง “น้ำมัน” เพราะสัปดาห์ที่แล้วได้ปรับตัวขึ้นสูงเป็นรายวันเช่นกัน วันนี้ทีมข่าว “Special Report” จึงคุยกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกี่ยวกับทิศทางของราคาน้ำมัน และข้อเสนอแนะต่างๆ
ราคาน้ำมันดิบลดลง-ไทยต้องนำเข้า 90%
นายพิชัย กล่าวว่ารอบนี้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปแตะ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล (6-7 มี.ค.65) หลังจากมีข่าวสหรัฐ-ยุโรป จะแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่ปัจจุบัน (15 มี.ค.65) สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีการเจรจาไปในทางที่ดี ขณะที่ประเทศจีนซึ่งมีการบริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก เพราะมีประชากรมากที่สุด แต่ตอนนี้จีนกำลังล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกำลังระบาดหนัก เขาต้องการเซตซีโร่โดยเร็ว ดังนั้นการใช้น้ำมันในจีนจึงลดลง
จาก 2 ปัจจัยสำคัญคือปัญหารัสเซีย-ยูเครน และจีนล็อกดาวน์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ 96-97 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยส่วนตัวเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต้นๆ/บาร์เรล เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังมีสูงอยู่ เพราะสัญญาณทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันมา 2 ปี และถ้าจีนกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ ความต้องการใช้น้ำมันจะมีมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าปี 63 “จีดีพี” จีนโต 2.3% ปี 64 จีดีพียังโตถึง 8.1% นี่ขนาดจีนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย มีความต้องการใช้น้ำมันดิบวันละประมาณ 1 ล้านบาร์เรล ตัวเลขความต้องการอยู่ระดับนี้มาหลายปีแล้ว เพราะประชากรไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น สมัยตนเป็น รมว.พลังงาน การนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 85% อีก 15% เป็นน้ำมันดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศ จากแหล่งน้ำมันดิบที่อยู่บนบก และในทะเล
แต่ปัจจุบันเนื่องจากเรามีแหล่งน้ำมันดิบน้อย และปริมาณการผลิตลดลง สัดส่วนการนำเข้าจึงขึ้นมาอยู่ที่ 90% ส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลางและรัสเซีย อีก 10% เป็นน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศ
สงสัย? ราคาหน้าโรงกลั่นฯ-ค่าการตลาด
“ผมตั้งคำถามไปยังรัฐบาลและกระทรวงพลังงานมาโดยตลอด ว่าทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นฯ บ้านเราที่ขายในประเทศ จึงแพงกว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน คุณขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นฯ เพื่อการส่งออกน้ำมันไปประเทศเพื่อนบ้านในราคาที่ถูกกว่าขายให้คนไทยใช้หรือเปล่า หรือว่ายังต้องบวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าระเหย ตามสูตรที่เคยนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์”
นายพิชัย กล่าวต่อไปว่า ประการต่อมาตนมีความสงสัยในเรื่อง “ค่าการตลาด” จากข้อมูลปี 63 ค่าการตลาดการขายน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 2.30 บาท ปี 64 ลิตรละ 2.14 บาท ต่อมาปี 65 เดือน ม.ค.ค่าการตลาดอยู่ที่ลิตรละ 1.31 บาท เดือน ก.พ. ลิตรละ 1.71 บาท และเดือน มี.ค.นี้ ลิตรละ 0.77 บาท นั่นแสดงว่าไม่ว่าจะได้ค่าการตลาด (กำไร) ลิตรละเท่าไหร่ ปั๊มน้ำมันยังอยู่ได้สบาย แต่ประชาชนเดือดร้อน!
นอกจากนี้ต้องพูดกันตามตรงว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โชคดีมาตลอด 7 ปี เพราะเข้ามาบริหารประเทศช่วงที่ราคาน้ำมันถูก ช่วยประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันดิบปีละ 5-6 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้น่าจะช่วยดันจีดีพีให้ดีขึ้น แต่เปล่าเลย! รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งมาเจอปัญหาน้ำมันแพงช่วงไม่กี่เดือนนี้ หากเป็นประเทศที่ฉลาดๆ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เขาต้องลดภาษีด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชน
รัฐต้องปรับตัวรับสภาพถ้าไม่มีภาษีน้ำมัน
สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท คือเก็บก็เหมือนไม่เก็บ รัฐบาลยอมสูญเสียรายได้ก้อนนี้ไปปีละกว่า 1 แสนล้านบาท แต่เงินดังกล่าวไปอยู่ในกระเป๋าประชาชนระดับกลาง-ล่าง ที่ใช้น้ำมันดีเซล
แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก ดังนั้นรัฐบาลอย่ามัวคิดแต่จะเก็บภาษีน้ำมันได้ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ถ้าขาดเงินก้อนนี้แล้วรัฐเดือดร้อนแน่ๆ เนื่องจากไม่มีเงินไปซ่อมแซมถนน ตนคิดว่าเป็นตรรกะที่ผิด เพราะวันนี้ต้องคิดว่าถ้าไม่มีเงินจากภาษีน้ำมันรัฐก็อยู่ได้ จากเหตุผลอีก 1-2 ปีข้างหน้า คนจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น จะใช้พลังงานทดแทนจากแสงแดดและลมมากขึ้น ถ้าน้ำมันยังแพงอยู่ลิตรละ 37-40 บาท (กลุ่มเบนซิน)
ตอนนี้คนขับรถยนต์แพงๆ ต้องจ่ายค่าน้ำมัน 4-5 บาท/กิโลเมตร หรือถ้าเป็นรถยนต์ดีเซลอาจจะ 3-4 บาท/กิโลเมตร ก็เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีค่าใช้จ่ายแค่ 0.40 บาท/กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายแตกต่างกันแบบนี้ ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์กันเกือบหมด
ฝาก 9 ข้อไปยังรัฐบาล “ประยุทธ์”
อย่างไรก็ตามตนมีเรื่องนำเสนอ 9 ข้อ ฝากไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ 1.การเร่งเปลี่ยนให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มของประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการประหยัดเวลาในการเดินทาง อีกทั้งพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีต่อเนื่องได้มากขึ้น 2.เร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น และในราคาที่ถูกลง รวมถึงเร่งส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมถึงพาหนะในรูปแบบอื่นที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
3.เร่งพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่เป็นอนาคตของโลก เพื่อแทนที่การใช้พลังงานจากฟอสซิลให้เร็วที่สุด 4.เร่งเจรจาหาแหล่งพลังงานที่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ เพื่อลดราคาพลังงานที่ต้องนำเข้า 5.ปรับเปลี่ยนเมืองใหญ่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่เป็นอัจฉริยะจริงๆ ที่ต้องประหยัดพลังงาน และ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม 6. ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายใดยังไม่จำเป็นต้องตัดออกทันที หรือเลื่อนไปก่อนเช่น ยกเลิกการซื้อเครื่องบินรบ F-35 ค่าใช้จ่ายการดูงานต่างประเทศ ตัดเงินเดือน ส.ว. และผู้ติดตามลงครึ่งหนึ่ง ขอเงินคืนค่าเรือดำน้ำที่ยังไม่มีเครื่องยนต์ เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนก่อน
7.นำเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 20,087.42 ล้านบาท ที่ พล.อ.ประยุทธ์ โอนไปเป็นรายได้รัฐกลับคืนมา เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันต้องกู้มากเกินไป 8.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเหลือลิตรละ 0.005 บาท เพื่อคงราคาดีเซลให้ต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท และภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินยังมีอยู่อีกลิตรละ 2.99 บาท ที่ยังจะลดได้ และ 9.ควรบริการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรีในช่วงนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน.