ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน, นายปริญญา คัชมาตย์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 14, นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานเพชรบุรี, นายสันต์ จรเจริญ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี และนายมีชัย ปฏิยุทธ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรี เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงน้ำท่วมและภัยแล้ง จ.เพชรบุรี

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนปี พ.ศ. 2559-2561 เกิดปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองเพชรบุรีเนื่องจากมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชร 500-600 ลบ.ม./วินาที โดยหลักการแล้ว เขื่อนเพชรต้องบริหารจัดการน้ำให้ไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรีไม่เกิน 150 ลบ.ม./วินาที และในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จ.เพชรบุรี จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำให้ จ.เพชรบุรี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทานจึงได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยกำหนดแผนก่อสร้าง 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน – เป็นการปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 3 และคลองระบายน้ำ D.9 พร้อมอาคารประกอบ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ 100 ลบ.ม./วินาที ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2564 กรมชลประทานสามารถระบายน้ำเลี่ยงเมืองป้องกันอุทกภัยเขตเมืองเพชรบุรีได้สำเร็จ, ระยะยาว – คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อ 30 ก.ย. 2563 ให้เปิดโครงการ เตรียมความพร้อมปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 ซึ่งดำเนินการในเขตคลองเดิม (ไม่มีการจัดหาที่ดิน) ร่วมกับการปรับปรุงคลองลำห้วยยาง (มีการจัดหาที่ดิน) ไปเชื่อมต่อกับคลองระบายน้ำ D.1 เพิ่มเติม รวมระยะทาง 31 กิโลเมตร จะสามารถระบายน้ำได้ 350 ลบ.ม./วินาที รวมถึงคลองระบายน้ำ D.18 ระบายน้ำได้อีก 200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะดำเนินการ พ.ศ. 2567-2571 งบประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยคลองระบายน้ำ D.1 จะสามารถป้องกันน้ำท่วมในรอบ 25 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชรมากถึง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีได้

นอกจากนี้ กรมชลประทานมีแนวทางเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อชะลอน้ำ เช่น เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จากเดิม 710 ล้าน ลบ.ม. เป็น 760 ล้าน ลบ.ม. ในปี พ.ศ. 2566 และขุดลอกตะกอนดิน 10 ล้าน ลบ.ม. ออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เพื่อให้รับน้ำได้ 42.2 ล้าน ลบ.ม. เต็มศักยภาพ รวมทั้งมีโครงการจะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสาริกา ความจุ 11 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม

ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้งใน อ.ชะอำ กรมชลประทานได้จัดทำโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยใช้แรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติเพื่อค่อย ๆ ระบายน้ำข้ามลุ่มน้ำ เป็นการจัดการอ่างเก็บน้ำเป็น “พวง” คือ เป็นกลุ่มของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2.อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม 3.อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย 4.อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด 5.อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (ศูนย์พัฒนาฯ ห้วยทราย) และ 6.อ่างเก็บน้ำห้วยทราย–หุบกะพง ที่เดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง โดยขณะนี้อ่างพวงทั้ง 6 แห่ง มีน้ำสะสมมากกว่า 80% แล้ว ทำให้ชาวนามีน้ำเพียงพอในการทำนาปรังได้ตลอดทั้งปี

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงภัยแล้ง ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากน้ำท่วม มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของชาวเพชรบุรีต่อไป