จัดเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่หลายคนสนใจอย่างมากสำหรับ วันไตโลก ซึ่งเป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาโรคไตที่มีของคนในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา ซึ่งวันไตโลกจะมีที่มาที่ไปอย่างไร ตามมาเลยจ้า

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า “ไต” กันก่อน ไต คืออวัยวะภายในสำหรับกลั่นปัสสาวะ สิ่งที่เป็นก้อนแข็งอยู่ในเนื้อ ซึ่งไตมีลักษณะเป็นอวัยวะรูปถั่วซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสำคัญหลายอย่างในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ไตนำโมเลกุลอินทรีย์ส่วนเกิน (เช่น กลูโคส) ออก และด้วยฤทธิ์นี้เองที่เป็นการทำหน้าที่ที่ทราบกันดีที่สุดของไต คือ การขับของเสียจากเมแทบอลิซึม (เช่น ยูเรีย แม้ 90% ของปริมาณที่กรองถูกดูดกลับที่หน่วยไต) ออกจากร่างกาย ไตเป็นอวัยวะสำคัญในระบบปัสสาวะและยังมีหน้าที่ธำรงดุล เช่น การกำกับอิเล็กโทรไลต์ การรักษาสมดุลกรด-เบส และการกำกับความดันเลือด (ผ่านการรักษาสมดุลเกลือและน้ำ) ไตทำหน้าที่เป็นตัวกรองเลือดตามธรรมชาติ และนำของเสียที่ละลายได้ในน้ำออก ซึ่งจะถูกส่งไปยังกระเพาะปัสสาวะ ในการผลิตปัสสาวะ ไตขับของเสีย เช่น ยูเรียและแอมโมเนีย และยังทำหน้าที่ดูดน้ำ กลูโคสและกรดอะมิโนกลับ ไตยังผลิตฮอร์โมน เช่น แคลซิไตรออล อีริโธรพอยอิติน และเอนไซม์เรนิน ซึ่งเรนินออกฤทธิ์ต่อไตโดยอ้อมในการยับยั้งป้อนกลับ (negative feedback)

สำหรับ “ไต” อยู่หลังช่องท้องในหลังเยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneum) ไตรับเลือดจากคู่หลอดเลือดแดงไต และเทเข้าสู่คู่หลอดเลือดดำไต ไตแต่ละข้างขับปัสสาวะสู่ท่อไข อันเป็นโครงสร้างคู่และเทเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ สรีรวิทยาไตเป็นการศึกษาการทำหน้าที่ของไต ขณะที่วักกวิทยา (nephrology) เป็นแพทยศาสตร์เฉพาะทางว่าด้วยโรคไต โรคของไตมีหลากหลาย แต่ผู้ที่มีโรคไตแสดงลักษณะพิเศษทางคลินิกบ่อยครั้ง ปัญหาทางคลินิกเกี่ยวกับไตที่พบบ่อย รวมถึงกลุ่มอาการไตอักเสบ (nephritic) และเนโฟรติก (nephrotic) ถุงน้ำไต ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วไต และการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ มีมะเร็งของไตหลายอย่าง มะเร็งของไตในผู้ใหญ่ที่พบมากที่สุด คือ มะเร็งเซลล์ไต มะเร็ง ถุงน้ำและปัญหาของไตอื่นบางอย่างสามารถรักษาได้ด้วยการตัดไต เมื่อการทำหน้าที่ของไต ซึ่งวัดได้โดยอัตราการกรองของโกลเมอรูลัส (glomerular filtration rate) ต่ำอย่างต่อเนื่อง 

การแยกสารผ่านเยื่อและการปลูกถ่ายไตอาจเป็นทางเลือกการรักษา นิ่วในไตปกติไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดการปวด และการเกิดนิ่วซ้ำ ๆ เรื้อรังสามารถทำให้ไตเกิดแผลเป็น การนำนิ่วในไตออกเกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยอัลตราซาวน์เพื่อสลายนิ่วเป็นชิ้นที่เล็กลง ซึ่งจะผ่านทางเดินปัสสาวะ กลุ่มอาการทั่วไปหนึ่งของนิ่วในไต คือ การปวดแปลบ (sharp) ถึงปวดจนรบกวนการใช้ชีวิต (disabling pain) ในตอนกลาง/ข้างของหลังส่วนล่าง

ทั้งนี้ คนเราเกิดมามีไตอยู่ 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไต คือ การขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายออกทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและร่างกายคนเราสะอาด, ของเสียที่ไตต้องขับออกส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ถ้าคนเราไม่มีไต หรือไตวายหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและในร่างกาย ทำให้เลือดและร่างกายสกปรก ในที่สุดอวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็จะเป็นพิษ หยุดทำงานและเสียชีวิต

หน้าที่ของไต

นอกจากหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายแล้ว ไตยังทำหน้าที่สำคัญๆ อื่นๆ ได้แก่

  • ควบคุมความดันโลหิต (คนไข้ไตไม่ดีจะมีความดันโลหิตสูง)
  • ผลิตฮอร์โมน Erythropoietin ที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (คนไข้โรคไตวายจะมีเลือดจาง เลือดน้อย )
  • ควมคุมปริมาณน้ำและระดับเกลือแร่ในร่างกาย (คนไข้โรคไตจะมีอาการบวม, เกลือแร่ผิดปกติ, ถ้าเกลือ
    โปแตสเซียมผิดปรกติจะทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติ, เป็นอันตรายต่อชีวิตได้)
  • ควบคุมความเป็นกรดด่างในร่างกาย (คนไข้โรคไตวายจะมีสภาพความเป็นกรดสูงมาก ทำให้อวัยะวะต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปรกติและเสียชีวิตได้)
  • ควบคุมการสร้างวิตามินดี แคลเซียมและฟอสฟอรัส (คนไข้โรคไตวาย ขาดวิตามินดีทำให้แคลเซียมต่ำ, กระดูกเปราะบางพรุน)

ภาวะไตวาย

ถ้าเกิดภาวะไตวาย, ไตหยุดทำงาน ของเสียจะคั่งค้างในเลือดและในร่างกายมากๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน, อ่อนเพลีย, ซีดโลหิตจาง, คันตามตัว, มีจ้ำตามตัว, อาเจียนเป็นเลือด, ท้องเดิน, ความดันโลหิตสูง, หัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดปรกติ, หายใจลำบาก, ไอเป็นเลือด, น้ำท่วมปอด, กระดูกเปราะบางหักง่าย, ปวดกระดูก, ถ้าของเสียค้างในสมองมากๆ จะมีอาการชักและสมองหยุดทำงาน นอกจากนี้ผู้ป่วยจะเป็นหมัน และหมดสมรรถภาพทางเพศ ถ้าเกิดโรคไตวายในเด็ก เด็กจะแคระแกร็นหยุดเจริญเติบโต

สาเหตุของโรคไต

สาเหตุของโรคไตที่พบบ่อยๆ คือ

  • ไตวายจากโรคเบาหวาน
  • ไตวายจากโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
  • ไตวายจากโรคเกาต์และนิ่วในไต
  • ไตวายจากโรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ (Glomerulonephritis), โรค SLE,

โรคไตวายเรื้อรังจากโรคบางโรค สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ โรคนิ่วในไต ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาควบคุมให้ดีก็จะลดโอกาสการเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้

วิธีรักษาโรคไต มี 3 วิธี

วิธีแรก คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีของเสียคั่งค้าง ผ่านเข้าไปในเครื่องกรองเลือด ซึ่งจะกรองของเสียจากเลือดและนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ต้องทำเป็นเวลา 3-5 ชม. และต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หลังฟอกเลือดแล้วผู้ป่วยจะมีเลือดที่สะอาด ร่างกายจะสดชื่นแข็งแรงขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้เกือบเหมือนปรกติ แต่ต้องมาฟอกเลือดเป็นประจำตลอดไป

วิธีที่สอง คือวิธีล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องตนเอง ครั้งละ 2 ลิตร วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 4-8 ชม. ทุกๆ วัน ขณะที่น้ำยาอยู่ในช่องท้อง ของเสียต่างๆ ที่เป็นพิษคั่งค้างอยู่ในร่างกายจะซึมจากกระแสเลือดเข้าสู่น้ำยาในช่องท้อง เลือดก็จะสอาด ผู้ป่วยก็จะมีสภาพร่างกายที่สดชื่นแข็งแรงขึ้น แต่ต้องล้างช่องท้องเป็นประจำตลอดไป

วิธีที่สาม คือการเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด ไตที่นำมาปลูกใส่ให้กับผู้ป่วยอาจจะมาจากญาติ คือ พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หลาน, ลุง, ป้า, น้า, อา หรือในบางกรณีมาจากสามี ภรรยา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้บริจาคจะบริจาคไต 1 ข้าง ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง คนเราปรกติมีไต 2 ข้าง สามารถบริจาคไตให้ญาติพี่น้องได้ 1 ข้าง เหลือเพียง 1 ข้าง ก็สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปรกติ, อายุยืนเหมือนคนปรกติ ในกรณีที่ไม่มีญาติพี่น้องบริจาคไตให้ ผู้ป่วยจะต้องรอรับไตบริจาคจากผู้ป่วยอื่นที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ซึ่งในประเทศไทย สภากาชาดจะเป็นผู้รับบริจาคและเป็นผู้จัดสรรไตอุบัติเหตุนี้ให้แก่คนไข้ไตวาย เป็นต้น

สำหรับ วันไตโลก (World Kidney Day) จะถูกกำหนดให้เป็นทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน มี.ค.ในทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น “วันไตโลก” (World Kidney Day) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึงอันตรายจากโรคไต โดยมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. 2549 นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากวิกิพีเดีย