เมื่อ “เทรนด์” ของพลังงานทดแทนจากฟอสซิลกำลังมาแรงในโลกใบนี้ รวมทั้งกระแสเรียกร้องให้กิจกรรมต่างๆทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันและภาคธุรกิจ ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังจะเข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน แล้วสถานการณ์ด้านพลังงาน (ไฟฟ้า) ในประเทศไทยมีความมั่นคงเพียงพอและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในรูปแบบใด
วันนี้ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสคุยกับ นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลังจากมีการพูดถึง “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคต ซึ่งอาจถึงขั้นเปิดโรงไฟฟ้าจากถ่านหินกันเลยทีเดียว
มาแน่ๆโรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชั่น
นายสาธิต กล่าวว่า กฟผ.มีภารกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศจากทุกแหล่งผลิต รวมทั้งให้ความสนใจโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้น เช่น กรณีสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “สทน.” กำลังค้นคว้าวิจัยสร้างดวงอาทิตย์ประดิษฐ์เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานฟิวชั่น ที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
โดยประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าในวันที่ “พีค” สุดๆ ประมาณ 20,000-30,000 เมกะวัตต์ บางปีอาจจะพีคสุดที่ 20,000 ต้นๆ บางปีอาจจะมีวันที่พีคสุดขึ้นไปเกือบ 30,000 เมกะวัตต์ ขนาดช่วงโควิด-19 ในปี 63 แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงไปแค่ 3% เท่านั้น
ถามว่าไฟฟ้าเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ประมาณ 60-70% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งก๊าซธรรมชาติมาจากอ่าวไทย แต่ช่วงหลังปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยอาจลดลง ประกอบกับมีการใช้ก๊าซมากขึ้นในโรงไฟฟ้าและภาคธุรกิจอื่นๆ จึงต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้วแหล่งไฟฟ้ายังมีที่มาจากถ่านหิน-เขื่อน-แสงอาทิตย์-ลม
แต่ ณ ปัจจุบันเรากำลังพูดถึงไฟฟ้าจากพลังงานฟิวชั่น จากดวงอาทิตย์ซึ่งมีมากมาย แต่ยังต้องใช้เวลา สำหรับประเทศไทยอาจจะต้องรออีก 20-30 ปี ตามที่ สทน.ระบุ แต่ตนคิดว่าเป็นไปได้แน่ๆ และอาจจะไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้จีนสามารถพัฒนาเดินเครื่องให้มีความเสถียรแล้ว ส่วนอังกฤษได้พัฒนาก้าวหน้าไปกว่าจีนแล้ว เรียกว่ามีความก้าวหน้าในหลายรูปแบบ
ดังนั้นทุกคน ทุกประเทศต้องวิ่งไล่กวดเทคโนโลยีให้ทัน เนื่องจากซัพพลายมีมหาศาล ทุกคนต้องได้ใช้แน่ๆ เพราะเป็นพลังงานที่ไม่ปล่อยคาร์บอนฯ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมโลกได้อย่างลงตัว ดังนั้นประเทศไทยต้องตามเทคโนโลยีให้ทันเหมือนกัน แต่ยังมีเวลาอีก 20 ปี ซึ่งไม่เหลือบ่ากว่าแรง ช่วงนี้อยู่ในขั้นวิจัยทดลอง การลงทุนอาจจะสูง แต่เมื่อทำได้แล้วต้นทุนจะต่ำมาก เนื่องจากมีการปล่อยพลังงานออกมาเยอะมาก เรียกว่าสามารถแข่งขันพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ได้อย่างแน่นอน
เมื่อถึงเวลาปลด!“แผงโซลาร์เซลล์”
นายสาธิตกล่าวต่อไปว่ากฟผ.มีแผนติดตั้งแผงโซลาร์ฯในเขื่อนต่างๆ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมเป็นแผนในระยะเวลา 10 ปี ทยอยทำไปเรื่อยๆ แต่เมื่อมีกระแสลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลดโลกร้อน ก็อาจจะต้องคุยกับกระทรวงพลังงาน เพื่อเร่งทำให้เร็วขึ้น ซึ่งตอนนี้ไปทำไว้ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ โดยใช้พื้นที่ผิวน้ำในการติดตั้งแผงโซลาร์ฯแค่ 1-2% ของพื้นที่ผิวน้ำของอ่างเท่านั้น ทำเป็นลักษณะ “ไฮบริด” กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนที่มีระบบสายส่ง และมีสถานีย่อยอยู่แล้ว ระบบไฟฟ้าจึงมั่นคงและนิ่งกว่าโซลาร์ฯ ปกติทั่วไป ตอนนี้กำลังทยอยทำทุกเขื่อน บางเขื่อนอาจติดตั้งแผงโซลาร์ฯที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าในเขื่อนสิรินธร
ถามว่าถ้าในอนาคตมีการใช้ไฟฟ้าจาก “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” แล้วแผงโซลาร์ฯ ที่ติดตั้งไว้มากมายตามเขื่อนจะทำอย่างไร คำตอบคืออาจจะใช้ผสมผสานไปด้วยกันได้ หรือทยอยปลดแผงโซลาร์ฯ ทิ้งไป เนื่องจากแผงโซลาร์ฯ มีอายุการใช้งานประมาณ 20 ปี หรือมากกว่านั้นก็ยังใช้ได้ แต่ประสิทธิภาพจะลดลง แทบจะไม่คุ้มแล้ว ก็ต้องปลดออก
“ปัจจุบันยังไม่มีเรื่องของพลังงานไฟฟ้าฟิวชั่นจากดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับที่ใช้อยู่ แต่ฉบับต่อไปอาจจะบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้ามา คือเร็วสุดผมให้เวลา 15 ปี ที่เราจะมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ ถึงวันนั้นแผงโซลาร์ฯ ที่ติดตั้งไว้คงจะใกล้หมดอายุการใช้งานแล
สำหรับไฟฟ้านำเข้าจากเขื่อนใน สปป.ลาวที่เราพูดถึงกันมาก และมีสัญญาอยู่ประมาณ 6,000-7,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องเรียนตามตรงว่าถ้าเราต้องการความมั่นคงทางพลังงาน ก็ควรมีพลังงานจากหลากหลายแหล่ง ถ้าตรงไหนมีปัญหา จะสามารถดึงไฟฟ้าจากที่อื่นทดแทนได้ ที่สำคัญไฟฟ้าจากหลายแหล่งยังช่วยดึงราคาไม่ให้แพง แต่จะช่วยดึงได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณที่นำเข้ามา
โดยไฟฟ้าจากเขื่อนใน สปป.ลาว จะว่าราคาถูกก็ไม่ได้ถูกนะ เนื่องจากการลงทุนสร้างเขื่อนค่อนข้างสูง แต่เป็นพลังงานสีเขียว และที่สำคัญ “ข้อดี” ของไฟฟ้าจากสปป.ลาว คือเป็นสัญญาระยะยาวและราคาคงที่ จึงมีความมั่นคงทางราคาค่อนข้างสูง และเป็นสัญญาระยะยาวจึงมีเสถียรภาพ
ดวงอาทิตย์มาอยู่บนโลก-โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องเลิก!
ส่วนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เราพูดกันมานานว่ามีปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นมาโดยตลอด และต้องอย่าลืมว่าถ่านหินเป็นพลังงานราคาถูก ช่วยดึงราคาค่าไฟฟ้า แม้จะไม่มากก็ตาม เพราะเราลดกำลังการผลิตลงมาเรื่อยๆจนเหลือประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ แต่ยังเดินเครื่องต่อไป เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีความสำคัญกับภาคเหนือ ช่วยป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคเหนือได้มาก จริงอยู่ว่าไฟฟ้าสามารถส่งทางระบบสายส่งได้ แต่ถ้าไกลมากจะมีปัญหาในการควบคุมแรงดันไฟฟ้า ทั้งเรื่องของความถี่และคุณภาพ จะควบคุมได้ยากขึ้น
“วันนี้เทรนด์ของโลกต้องการลดโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในช่วง 5-10 ปี ควรเหลือเท่าไหร่ อีก 15-20 ปี ต้องไม่ปล่อยคาร์บอนฯ เลย แต่จะทำอย่างไรในเมื่อเรายังควบคุมธรรมชาติไม่ได้ เราสั่งการให้แดดออกทั้งวันและทุกวันไม่ได้ บางช่วงที่มีมรสุมไม่มีแดด 3-4 วัน จะเอาพลังงานทดแทนมาจากไหน ขณะที่ก๊าซและถ่านหินเราสามารถสั่งได้ ต้องการเท่าไหร่และเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำอย่างไรให้การผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยมีการปล่อยคาร์บอนฯน้อยลงที่สุด แต่ในอนาคตถ้ามีโรงไฟฟ้าจากฟิวชั่น เอาดวงอาทิตย์มาไว้บนโลกที่ สทน.กำลังศึกษาวิจัย และกฟผ.เข้าไปให้การสนับสนุน ซึ่งจะเป็นอะไรที่เราสามารถกำกับควบคุมได้ สุดท้ายแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ต้องเลิก” นายสาธิต กล่าว.