ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์แนวโน้มโลกที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่เมืองต้องแก้ปัญหาทั้งปัญหาเก่า และต้องเตรียมความพร้อมต่อการปรับตัวใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ในโลกยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาเมืองกลายเป็นทางเลือกทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญบนบริบทของประเทศไทยที่มีการรวมศูนย์กลางก่อนจะกระจายโอกาสสู่ภูมิภาคต่างๆ ซึ่งการพัฒนาเมืองจะช่วยยกระดับการพัฒนาภูมิภาค และจะช่วยทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และคลี่คลายปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคม โดยโจทย์สำคัญของงานวิจัยเรื่องการพัฒนาเมือง คือแผนงานการพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ ซึ่งแผนการพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับกลไกของการพัฒนาเมืองที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) กลไกความร่วมมือต่างๆ ในระดับพื้นที่ ๒) การพัฒนาระบบความรู้และข้อมูลเปิดระดับพื้นที่ ๓) การพัฒนากลไกทางการเงินใหม่ ที่จะนำไปสู่การลงทุนระดับเมือง และ ๔) กลไกการทำแผนการพัฒนาเมืองที่มีคุณภาพ บนฐานของการประสานพลังของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งสี่ด้านนี้จะทำให้เกิดความสามารถในการลงทุนระดับพื้นที่ตามมา
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (หน่วย บพท.) กล่าวเสริมว่า จากการที่หน่วย บพท. ที่มีหน้าที่ในการบริหารและจัดการทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่โดยใช้ทุนวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญ จึงได้ร่วมกับสมาคมสถาบันทิวา จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะ” หรือ City Transformation & Public Policy Institute: CTPI ภายใต้โครงการ “กลไกการพัฒนาการเรียนรู้ของเมือง” ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการให้มีสถาบันเพื่อสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเมือง ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาเมืองฯ ได้เป็นผลผลิตสำคัญของการขับเคลื่อนเมืองที่ใช้ชุดข้อมูลและองค์ความรู้ในการยกระดับเมืองให้เกิดการลงทุน สถาบันพัฒนาเมืองฯ จะทำหน้าที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นที่หน่วย บพท. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนดำเนินการมาด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การลงทุนที่สำคัญในแต่ละเมืองอย่างเป็นรูปธรรม
การพัฒนาเมืองเป็นหนึ่งในงานหลักของบพท. ที่ครอบคลุมตั้งแต่การแก้ปัญหาความยากจนระดับครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ หรือในระดับชุมชนด้วยการสร้างชุมชนนวัตกรรม โดยเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อร่วมกันนำความรู้ไปช่วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้วใน ๓๒ จังหวัด ด้วยการจัดสรรทุนให้โครงการต่างๆ นับร้อยโครงการ ทั้งนี้การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ จะยึดความต้องการของคนในพื้นที่หรือชุมชนนั้น เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในแนวทางที่ยั่งยืน นอกจากนี้ บพท.ยังได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อทำให้เกิดเครือข่ายแก่มหาวิทยาลัยพื้นที่ทั้ง ๕ ภูมิภาค ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดสู่ประชาชน
ด้านนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะ (City Transformation & Public Policy Institute: CTPI) กล่าวว่าบทบาทและหน้าที่สำคัญของสถาบันพัฒนาเมืองฯ คือการถอดรหัสเปลี่ยนเมือง (City Decoding & Transformation) ซึ่งสถาบันพัฒนาเมืองฯ จะมุ่งเน้นใน ๓ แนวทางด้วยกัน คือ ๑) ความรู้เปลี่ยนเมือง (City Knowledge) คือการวบรวม จัดการ ถ่ายทอด องค์ความรู้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้พัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ ๒) คนเปลี่ยนเมือง (City Specialist) คือการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในการถอดรหัสเมือง วางแผนเมืองและบริหารจัดการเพื่อสร้างการเปลี่ยนเมืองอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นจัดทำแผนใน ๔ กลุ่ม คือ แผนพัฒนามนุษย์, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ และ ๓) ทุนเปลี่ยนเมือง (City Investment) คือการสร้างกลไกให้เกิดการร่วมทุนระหว่างองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน
“สถาบันพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะ ทำหน้าที่เสมือนเป็นไม้เสียบลูกชิ้น กล่าวคือ การเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการร้อยเรียงให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรทุกภาคส่วนอย่างมีระบบและยั่งยืน เพื่อให้แต่ละองค์กรเข้ามาทำงานด้วยกันในสะท้อนปัญหาของแต่ละเมืองและร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการถอดรหัสเมือง วางแผนและบริหารจัดการเมือง พร้อมทั้งสร้างให้เกิดการร่วมทุน ระดมทุนระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระดับท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ” นายชยดิฐกล่าว
สถาบันพัฒนาเมืองฯ ก่อตั้งขึ้นมาด้วยบทบาทหน้าที่ของการใช้ความรู้เป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและภูมิภาคให้เกิดความยั่งยืน นอกจากเน้นให้เกิดการปฏิบัติจริงในการพัฒนาเมืองจากภูมิภาคแล้ว สถาบันพัฒนาเมืองฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งและเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ เพราะคนที่มีความรู้ความเข้าใจในบริบทและองค์รวม จะสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนได้ และเมื่อทุกพื้นที่ที่มีการพัฒนาได้เชื่อมโยงเข้าหากัน ก็จะกลายเป็นเครือข่ายที่แข็งแรงและยั่งยืน และเกิดการเชื่อมโยงไปจนถึงระดับประเทศชาติในที่สุด
ปัจจุบันมีพันธมิตรภาคเอกชนที่เป็นบริษัทพัฒนาเมืองแล้ว ๑๙ แห่งทั่วประเทศไทย และยังมีอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการสร้างโมเดลการขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาเมืองในแต่ละพื้นที่