เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ว่า ในส่วนของแนวทางและมาตรการในการเฝ้าระวังโรคของกรมอุทยานฯ ได้ให้สั่งการให้หน่วยงานภาคสนาม ดำเนินการอย่างเข้มข้น คือ 1. สังเกตอาการป่วย ตายผิดปกติของวัวป่า ควายป่า และกลุ่มสัตว์กีบในพื้นที่รับผิดชอบ และให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในสัตว์ป่า ติดตามสถานการณ์ของโรค สุขภาพ และการทำวัคซีนในสัตว์ปศุสัตว์โดยรอบ เพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีสัตว์กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ทำการควบคุม ป้องกันแมลงพาหะอย่างเข้มงวด รวมถึงเฝ้าระวังและสังเกตอาการของสัตว์ป่าเป็นประจำ 2. ในกรณีที่พบสัตว์ป่าป่วย โดยมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 ซม. ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และช่วงขา รวมทั้ง สัตว์ป่าที่มีอาการเดินผิดปกติ หรือในกรณีที่พบสัตว์ป่าตาย ให้แจ้งสัตวแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานใกล้เคียงเข้าดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุของการป่วยหรือตาย
นางรุ่งนภา กล่าวว่า 3. กำหนดแนวเขตกันชน ห้ามไม่ให้มีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และควบคุมไม่ให้มีการใช้พื้นที่ชายขอบป่าอนุรักษ์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ 4. ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเฝ้าระวังการป่วยหรือตายผิดปกติของสัตว์ป่า พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการต่อไป และ5. ในกรณีที่พบการป่วย หรือตายผิดปกติของสัตว์ป่ากลุ่มสัตว์กีบ และสงสัยว่าป่วยเป็นโรคลัมปี สกินในพื้นที่รับผิดชอบให้รายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบโดยด่วน
นางรุ่งนภา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับทางจังหวัด โดยประสานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง โดยมีการะดมฉีดยาฆ่าเชื้อ และวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงในชุมชนตามรอบแนวเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อไม่ให้เกิดการะบาดตามแนวเขตป่า ที่สำคัญได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุกแห่ง มีชุดเฝ้าระวัง สังเกตรอยโรคของสัตว์กีบ หากพบรอยโรคบนผิวหนัง หรือซากสัตว์ ให้แจ้งกรมอุทยานฯ เพื่อส่งตรวจโดยด่วน พร้อมทั้งมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap) เพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยงที่อยู่ใกล้ชุมชนอย่างไรก็ตามขณะนี้มีเพียงพื้นที่อุทยานฯ กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่พบรายงานกระทิงตายจากโรคลัมปีสกิน และตรวจพบจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า มีรอยโรคที่ผิวหนังอยู่ 1 ตัว ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากโรคลัมปี สกิน หรือไม่ โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามฝูงกระทิงอย่างใกล้ชิด
“กรณีที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่มีการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน สู่สัตว์ป่าในประเทศไทย จึงอยากฝากไปถึงประชาชนให้ตระหนักถึงโรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดจากสัตว์ป่าสู่คนหรือจากคนสู่สัตว์ป่า ตั้งแต่โรคไข้หวัดนก โรคโควิด-19 ที่อาจมีที่มาจากสัตว์ป่าและเป็นวิกฤติของโลกอยู่ในขณะนี้ มาจนถึงโรคลัมปี สกิน แม้จะไม่สามารถติดต่อสู่คนได้ แต่หากไม่ช่วยกันป้องกันก็จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากประชาชนให้หยุดล่าและบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเพื่อป้องกันและตัดวงจรโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” นางรุ่งนภา กล่าว
ขณะที่นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้รายงานกรมอุทยานฯ ระบุว่าสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีสัตว์เลี้ยง ป่วยสะสมทั้งหมด 3,379 ตัว สัตว์เลี้ยงหายป่วยสะสม 1,026 ตัว ตายสะสม 230 ตัว สัตว์ป่วยใหม่วันนี้ 118 ตัว คงเหลือสัตว์ป่วยสะสม 2,123 ตัว ในส่วนของอุทยานฯ กุยบุรี ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง) ติดตามสังเกตกระทิงฝูงพบฝูงกระทิงออกบริเวณแปลงหญ้า จำนวน 45 ตัว เบื้องต้นไม่พบอาการกระทิงของที่มีอาการของรอยโรคลัมปี สกิน แต่อย่างใดทั้งนี้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาและวิจัย ร่วมกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.5 (ห้วยลึก) และ WWF ประเทศไทย ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) จำนวน 14 จุด เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปี สกิน ของกระทิงและสัตว์ป่าอื่นๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี.