เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลบุษราคัม แถลงข่าวการบริหารจัดการโรงพยาบาลบุษราคัมผ่านระบบออนไลน์ ว่า รพ.บุษราคัมเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ถึงตอนนี้ประมาณ 2 เดือนเศษ โดยดูแลผู้ป่วยสะสม (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค.2564) จำนวน 10,395 คน รักษาหายแล้ว 6,955 คน ยังรักษาตัวประมาณ 3,300 คน จากจำนวนเตียง 3,700 เตียง ซึ่งตัวเลขสวิงไปมาตามจำนวนเตียงที่เรามี และขึ้นกับคนไข้กลับบ้านกี่คน รับใหม่กี่คน ส่วนอัตรากำลังบุคลากรประมาณ 300-400 คนต่อวัน ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ใน รพ. 300 คนเศษ เป็นหมอ 50-60 คน พยาบาล 200 คน ที่เหลือเภสัชกร นักรังสี ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่แบ๊กออฟฟิศ 20 คน และมีการจ้างงานผู้ที่หายโควิดแล้วให้เป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนักงานเปล เป็นต้น ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ป่วย ทั้งนี้ เดิมเจ้าหน้าที่ รพ.บุษราคัม มาจากภูมิภาค 100% แต่ขณะนี้การติดเชื้อในภูมิภาคก็ระบาดเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงต้องเป็นลักษณะการขออาสาสมัครสัดส่วน 50:50
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไร รพ.บุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข จะไม่มีการปฏิเสธคนไข้ แม้ภาระของ รพ. และสถานบริการใน กทม.มากขึ้นเรื่อยๆ และเดือน ก.ค. มีการระบาดรุนแรงทาง รพ.บุษราคัมได้ดูแลคนไข้อาการหนัก หรือกลุ่มสีแดง โดยปัจจุบันมีคนไข้ต้องใช้ออกซิเจนถึง 500 คน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ 170 คน ในจำนวนนี้จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 6-9 คนต่อวัน คือ ต้องใส่ทั้งท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจ จะเห็นว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาอาการคนไข้รุนแรงมากขึ้น มีบุคลากรเท่าเดิม และมีทีท่าน้อยกว่าเดิมต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความหนักหน่วง ในภาระงานที่มากขึ้น จึงทำให้เกิดความกดดัน เกิดความเครียด กระทบต่อการสื่อสารที่อาจไม่ทั่วถึง จึงได้มีการทบทวนประเด็นต่างๆ ที่สะท้อนมาจากทุกช่องทาง โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาวุโส ว่าจะปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ทั้งเครื่องมือ หรือระบบการบริการให้สะดวกขึ้น
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่สื่อโซเชียลมีเดียระบุถึงการเบิกจ่ายค่าตอบแทนต่างๆ นั้น เป็นไปตามระเบียบราชการ ซึ่ง รพ.บุษราคัม เป็น รพ.ลูกข่าย ของ รพ.พระนั่งเกล้า ระเบียบจ่ายค่าตอบแทนทุกประเภท ต้องจ่ายจากพระนั่งเกล้า ตามระเบียบราชการ อย่างไรก็ตาม จากภาระงานที่หนักขึ้นในเดือน ก.ค. นั้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ขึ้นเป็น 2 เท่า สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน รพ.บุษราคัม เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจตามภาระงานที่มากขึ้นโดยจะมีการพิจารณาผ่านคณะกรรมการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็อยู่ภายใต้ความเห็นของหน่วยราชการ หรือหน่วยบริการนั้นๆ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีเบี้ยเลี้ยง 8 บาท นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เราเป็นราชการ ทุกอย่างต้องทำตามราชการ ค่าเสี่ยงภัยก็เป็นงบประมาณแผ่นดิน จัดสรรมาโดยมติ ครม. จัดสรรเป็นงวดๆ ไม่ใช่เดือนต่อเดือน และค่าเสี่ยงภัยก็เหมือนกันทั่วประเทศ ส่วนค่าตอบแทนอื่นๆ อย่างการเดินทางจากที่บ้านมาที่ทำงาน อยู่ที่การเบิก ซึ่งมีรอบเบิก ตัวเลข 8 บาทน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างการสื่อสาร เพราะมีระเบียบการเบิกจ่ายของปี 2560 โดยส่วนนี้ได้มอบให้ทางการเงินของ รพ.พระนั่งเกล้า ให้ไปสอบทวนเรื่องนี้ ว่าหากมีส่วนใดที่เป็นสิทธิประโยชน์โดยตรงของเจ้าหน้าที่ ขอให้ดำเนินการอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม โดยปกติหากทำงานเดือนนี้ มีเอกสารถูกต้อง ก็จะได้ค่าตอบแทนในเดือนถัดไป.