อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้า และผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก มีปริมาณสำรองแร่นิกเกิลมากถึง 1 ใน 4ของทั่วโลก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายเช่น ออกกฎระเบียบใหม่ควบคุมการขนส่งถ่านหิน หรือข้อเสนอภาษีส่งออกนิกเกิล จึงมักส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วตลาดโภคภัณฑ์โลก และผลักดันราคาสูงขึ้นในประเทศที่จำเป็นต้องใช้สินค้าเหล่านี้

จากบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น เป็นผลพวงจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เดินหน้าผลักดันนโยบายชาตินิยมทรัพยากร (resourcenationalism) ที่มีเป้าหมายให้ชาวอินโดนีเซีย 278 ล้านคน ได้ใช้สอยประโยชน์มากขึ้น จากความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

วีธีดำเนินการของวิโดโดเน้นจำกัดการส่งออก และกระตุ้นกระบวนการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นในประเทศ

ราคาถ่านหินในตลาดโลกพุ่งสูงในปี 2564 โดยขึ้นสูงกว่า 246 ดอลลาร์สหรัฐ (8,105 บาท) ต่อเมตริกตันในเดือน ต.ค.ทำให้บริษัทเหมืองในอินโดนีเซียแข่งขันส่งออกทำกำไรแม้รัฐบาลจะมีกฎ ผลผลิตถ่านหิน 25% ต้องขายให้โรงไฟฟ้าในประเทศ ในราคาที่กำหนด ที่ไม่เกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาดโลกเกือบ 4 เท่า

การแห่ส่งออกทำให้เสี่ยงขาดแคลนถ่านหินไม่พอผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศ ปีที่แล้วรัฐบาลอินโดนีเซียจึงประกาศห้าม 34 บริษัทผู้ส่งออกขนถ่านหินลงเรือออกนอกประเทศ ตามด้วยคำสั่งระงับการส่งออกทั้งหมด ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565 ทำให้หลายประเทศลูกค้านำเข้ารายใหญ่ รวมถึงฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ออกโรงประท้วงจาการ์ตากันเป็นแถว

ในส่วนของการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ วิโดโดเผยในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ว่าอินโดนีเซียสามารถสร้างรายได้เข้ารัฐ จากมูลค่าเพิ่ม ประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,153,170 ล้านบาท) จากการแปรรูปนิกเกิลในประเทศ แทนที่จะขนลงเรือไปแปรรูปในต่างแดน

อินโดนีเซียมีประวัติศาสตร์ถูกปล้นสดมทรัพยากรมายาวนาน นับตั้งแต่ยุคนักล่าอาณานิคมชาวดัทช์เข้าไปกวาดเก็บเครื่องเทศประเภทจันทน์เทศ และกานพลู ในดินแดนที่ชาวดัทช์เรียกตอนนั้นว่า หมู่เกาะอินเดียตะวันออก (East Indies) เมื่อประมาณ 400 ปีก่อน

ทางการจาการ์ตาสั่งห้ามส่งออกสินแร่โลหะในปี 2557เพื่อกระตุ้นให้มีการก่อสร้างโรงถลุงแร่ในประเทศเพราะที่ผ่านมาความร่ำรวยไปตกอยู่กับโรงงานแปรรูปในต่างแดน และชาวต่างชาติแต่ต่อมาได้ผ่อนคลายคำสั่งบางส่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในการก่อสร้างโรงงานถลุงแร่ใหม่

การตัดสินใจในปี 2562 ร่นกำหนดเวลาควบคุมการขายสินแร่นิกเกิลในต่างประเทศ จากภายใน 2ปี เป็นต้นปี 2563 ส่งผลให้ราคานิกเกิลในตลาดโลกพุ่งสูงอีกรอบ เมื่อบรรดาประเทศผู้บริโภค เช่นจีน แข่งกันซื้อกักตุน

วิโดโดซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำ 5 ปีสมัยที่ 2 สุดท้าย จะสิ้นสุดลงในเดือนต.ค. 2567 กล่าวย้ำหลายครั้ง ท้ายที่สุดเขาต้องการให้ยุติการส่งออกผลิตภัณฑ์ตั้งต้นจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด เพื่อผลิตสินค้าแปรรูปภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างงานมากขึ้นและปรับปรุงสถานะทางการค้าของประเทศ

อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายเป็นประเทศผลิตแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก และศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคโดยเป้าหมายสุดท้าย คือผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในประเทศ และจะเป็นผู้จัดส่งผลิตภัณฑ์สำคัญสำหรับการผลิตรถยนต์ประเภทนี้ เช่น นิกเกิลซัลเฟต และวัสดุขั้วแคโทด ภายในปี 2568

สำหรับถ่านหิน เป้าหมายอยู่ที่เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม เปลี่ยนถ่านหินเป็นสารเคมี และเริ่มโครงการแปลงถ่านหินให้เป็นก๊าซ ซึ่งจะทำให้เกิดทางเลือกใหม่ แทนการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม ที่มีค่าใช้จ่ายสูง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS