สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้ “โครงการจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565 – 2570” โดยมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meetings ในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคที่น่าสนใจ ความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้สนใจ อันจะเป็นแนวทางสำคัญในการชี้ทิศทางด้านการค้า ที่เป็นประโยชน์ในการวางยุทธศาสตร์การค้าของประเทศร่วมกัน

การจัดประชุมของส่วนกลางนั้น แบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นการรับฟังปัญหาและอุปสรรคด้านการค้า และครั้งที่สอง เป็นการระดมข้อคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติ โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็น ดังนี้

ประเด็นสำคัญจากการระดมความคิดเห็นส่วนกลางมี 7 ประเด็น

  • การพัฒนาและการเพิ่มมูลค่าแก่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองและแหล่งท่องเที่ยวของท้องถิ่น

มีการวิเคราะห์ว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากการขาดการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถดึงดูด นักท่องเที่ยวที่มีคณภาพและส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ จึงเสนอให้มีการจัดทำนโยบายที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองสู่การเป็น High-Quality Destination ที่มีศักยภาพในการจูงใจนักท่องเที่ยวให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเป็นแหล่งรายได้สำคัญของแต่ละท้องที่ต่อไปในอนาคตได้

  • การขาดแพลตฟอร์มสำหรับการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ

ปัจจุบันนั้นมีความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้าอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินงานภายในเวลาที่ทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งสำคัญ การมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับการค้าและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ข้อมูลการวิจัยพัฒนาของภาคการศึกษาข้อมูลความคืบหน้าในการทำงานที่เชื่อมโยงจากทุกหน่วยงานจึงมีความสำคัญที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจดำเนินงานทางการค้าที่เป็นประโยชน์

  • การพัฒนาช่องทางออนไลน์ที่เป็นส่วนกลางในการขายและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมามีหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน แต่ยังคงเกิดปัญหาขึ้นที่นอกจากจะมีความซ้ำซ้อนกันในตัวระบบแล้วยังเกิดปัญหาผู้ใช้งานที่มีจำนวนไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย จึงเสนอให้มีการบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยให้ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างระบบและควบคุมดูแลให้เป็นระบบการค้าดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ

  • การปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในส่วนของภาครัฐ

ปรับปรุงนโยบายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าให้มีความสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันและเอื้อให้เกิดการดำเนินธุรกิจการค้าที่เป็นไปได้โดยง่ายขึ้น และสร้างการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

  • การวางแผนเพื่อรับมือและป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจส่งกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจการค้าในอนาคต ที่มาพร้อมกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดำเนินงานได้โดยเร็ว

การระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้แบกรับผลกระทบแต่เพียงผู้เดียวและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น จึงเสนอให้มีการดำเนินการวางแผนเพื่อรับมือและเยียวยาที่สมเหตุสมผลนับตั้งแต่การออกมาตรการช่วยเหลือหรือสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงานที่เหมาะสมไปจนถึงการสนับสนุนให้เกิดการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านกลไกการอุดหนุนงบประมาณของภาครัฐที่ตรงจุด

  • การต่อยอดแนวคิดในการค้นหาพืชหรือสัตว์เศรษฐกิจแนวใหม่ในระดับท้องถิ่น

เพิ่มความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเกษตรในระดับท้องถิ่นเท่าที่ควร โดยการสนับสนุนประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับการเกษตรในแต่ละพื้นที่ที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดการผลิตในระดับชุมชนให้มีการจัดทำแผนและแนวทางที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่แบบครบวงจรที่ชัดเจน ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การขายการตลาดรวมถึงการสร้างค่านิยมการยอมรับบริโภค

  • การให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดย่อมและขนาดกลางให้มีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

เพิ่มการสนับสนุนพัฒนาธุรกิจรายย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลางที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคตในหลาย ๆ มิติร่วมกันหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสม เพิ่มทักษะการใช้งานเทคโนโลยีประกอบการดำเนินธุรกิจ และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานของกิจการ

จากการระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกระดับไปจนถึงประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาค และ พื้นที่ส่วนกลางในครั้งนี้ ทำให้ สนค.
รับทราบข้อมูลตั้งแต่ปัญหา ข้อเสนอแนะ และอุปสรรคต่าง ๆ ด้านการค้า และมองหาจุดร่วมนำไปสู่การเตรียมร่างแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติอันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการค้าของไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้าต่อไป