เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาอนุ กมธ.ครุภัณฑ์และไอซีที ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ2565 เปิดเผยถึง การพิจารณางบของกระทรวงยุติธรรม ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ว่า มีการของบซื้อหลายส่วนที่ควรถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาที่มีการเเพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่ อาทิ ขอซื้อชุดเครื่องแบบปราบจลาจล (กันสะเก็ด) ชุดละ18,500 บาท รวม 3.2 ล้านบาท โล่ปราบจลาจลอันละ 13,500 บาท รวม 3.6 ล้านบาท หมวกปราบจราจลใบละ 13,000 บาท รวม 2.4 ล้านบาท กระบองปราบจลาจล (ยังไม่ได้ชี้แจงสเปก) อันละ 7,200 บาท รวม 2.53 ล้านบาท กระบองดิ้ว (ยืดหดได้) อันละ 6,500 บาท รวม 2.6 ล้าน เสื้อพันธนาการ 83 ตัว ตัวละ 8,000 บาท รวม 6 แสนบาท โดยเหตุผลเพื่อใช้ระงับเหตุปราบจราจล และการแหกคุก ที่น่าใจคือโล่กันกระสุน ขอมา 2 อัน อันละ 3.5 แสนบาท รวมกว่า 7 แสนบาท ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่าซื้อมาเพื่อกันกระสุนจากนักโทษ หรืออย่างไร เหมือนกรมราชทัณฑ์ดูหนังฮอลลีวูดมากเกินไป กะว่าถ้ามีการจลาจลคงใส่เครื่องแบบเต็มยศเหมือนในหนัง ตั้งแนวถือโล่กันกระสุนบุกทะลวงเข้าไปแบบสโลว์โมชั่น
“ปัญหาที่กรมราชทัณฑ์กำลังประสบคือมีนักโทษมากเกินไป แออัด สาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง แต่ดูเหมือนงบส่วนใหญ่ในส่วนของครุภัณฑ์นั้น กรมราชทัณฑ์ซื้อเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คุมมากกว่าจะซื้อไปดูแลนักโทษ เช่น ตู้กดน้ำร้อนน้ำเย็น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องระบายอากาศ เครื่องฟอกอากาศ ขอซื้อมาเยอะไปหมด ไหนจะเครื่องตัดหญ้า เครื่องตัดแต่งพุ่มไม้ ผมเข้าใจเรื่องการสนับสนุนการทำงานของผู้คุม แต่การขอซื้อในลักษณะดังกล่าว เป็นไปเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของนักโทษโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดหรือไม่ ในขณะที่ กรมราชทัณฑ์ มีรายได้จากการที่ให้นักโทษรับงานต่างๆ มาทำในเรือนจำมีรายได้ประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี เป็นรายได้ที่ให้ผู้ต้องขังฝึกวิชาชีพ ซึ่งเป็นรายได้นอกงบประมาณ ที่ก็ไม่ได้ส่งให้คลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ผมสอบถามอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่เข้ามาชี้แจงถึงเรื่องรายได้ดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า รายได้ตรงนี้ต้องนำไปซื้อวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือมาหมุนเวียนเพื่อทำงานต่อ โดยเหลือกำไรเพียงปีละประมาณ 500 ล้านบาทเก็บไว้ โดยเก็บไว้บริหารจัดการในกรมฯ เอง ตามกฎหมาย” นายจิรัฏฐ์ กล่าว
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีงบในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ขอซื้อเครื่องแจมเมอร์ หรือเครื่องรบกวนสัญญาณมือถือ เครื่องใหม่ทดแทนเครื่องเดิมที่ไม่รองรับสัญญาณ 5G เครื่องละ 4 ล้านบาท จำนวน 2 เครื่อง ทางเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ชี้แจง อ้างว่า จำเป็นต้องในห้องพิจารณาคดี ห้องอ่านคำพิพากษา ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัย เพราะกลัวจะมีการส่งข้อมูลภายในออกไปข้างนอก รวมถึงรักษาความปลอดภัยให้ตุลาการทั้ง 9 ท่านจากการลอบวางระเบิด จึงต้องใช้เครื่องตัดสัญญาณ ตนก็สอบถามกลับไปว่า ระเบิดที่ไม่ได้ใช้สัญญาณโทรศัพท์ก็มี รวมถึงยังมีสัญญาณวิทยุอื่นๆ ตั้งเยอะแยะ ที่ไม่ไช่ 3g 4g 5g แบบที่ กสทช.รับรอง แล้วถ้าจะกันคนนำข้อมูลออกไปข้างนอก ก็ถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ หากผู้ไม่ประสงค์ดีจะนำข้อมูลออกไปภายนอกด้วยวิธีคลาสสิกอย่างเช่น การบันทึกลงเมมโมรี่การ์ด เครื่องรบกวนสัญญาณ 8 ล้านจะสกัดอย่างไร ซึ่งทางเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ตอบอะไร นอกจากให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัย
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า ตนถามไปว่าถ้าแบบนั้นเราไปลงทุนตั้งแต่การตรวจทางเข้าศาลดีหรือไม่ มีเครื่องตรวจหรือเครื่องสแกนต่างๆ และราคาถูกกว่านี้หลายเท่า เขาก็บอกว่ามันไม่ครอบคลุม ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คดีที่ตัดสินเป็นคดีที่สำคัญ มีผลกระทบสูง ตนก็บอกว่าทุกคดี ทั้งคดีรัฐธรรมนูญ คดีอาญา คดีแพ่ง หรือกฎหมายลูก กฎกระทรวงต่างๆ มันก็สำคัญเหมือนๆ กันหมด กฎหมายต้องสำคัญเท่า ๆกัน ทุกคดีต้องสำคัญเท่าๆ กัน และปีที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน 90 กว่าคดี ทำเสร็จไป 60 กว่าคดี ในขณะที่ศาลปกครองมีคดีประมาณ 34,000 คดีต่อปี ศาลปกครอง ยังขอซื้อแค่ไม้สแกนโลหะเอง ราคาไม่เกิน 3,000 บาท ถ้าคุณบอกว่าคดีคุณเยอะ มีโอกาสที่จะเจอคนไม่พอใจของผลตัดสินจนคิดปองร้ายผู้พิพากษา แล้วศาลปกครองละ ปีละ 34,000 คดี มากกว่าศาลรัฐธรรมนูญตั้งกี่เท่า ทำไมเขาขอแค่ไม้สแกนโลหะ อีกทั้งใบเสนอราคาที่แนบมา มีข้อความในรายการเสนอสั้นๆ แค่คำว่า “เครื่องรบกวนสัญญาณมือถือ” ตัวละ 4 ล้าน เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดสเปกอะไรเลย ตัดสัญญาณอะไรไดบ้าง รับประกันกี่ปีก็ไม่บอก ถามว่าเป็นประชาชนทั่วไปได้รับใบเสนอราคาแบบนี้ จะกล้าซื้อหรือไม่ และเครื่องเหล่านี้ควรจะไปอยู่ในเรือนจำที่มีปัญหาเรื่องการใช้โทรศัพท์สั่งซื้อยาเสพติด มากกว่ามาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่
นายจิรัฎฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะขอซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงห้องพิจารณาคดีด้วย อาทิ ขอซื้อจอภาพอัจฉริยะอินเตอร์แอคทิฟไวน์บอร์ด ขนาด 98 นิ้ว เครื่องนี้ราคาเครื่องละ 1.2 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบห้องประชุม และวินิจฉัย จอแสดงผลสำหรับติดตั้งโต๊ะประชุมขนาด 18 นิ้ว ความละเอียดแค่ 1366 x 768 จำนวน 9 จอ ซึ่งราคาสูงถึงจอละ 78,000 บาท รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ ตนไม่ได้บอกว่าเป็นการทุจริต แต่สังคมควรจะตั้งคำถามว่า มันมีเหตุผลความจำเป็นเพียงพอ ในยุคที่ประชาชนคนไทยตาดำๆ กำลังสู้กับสงครามโควิด หรือไม่ การตั้งงบแบบนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนในสถานการณ์โรคระบาดจริงๆ หรือไม่.