เมื่อวันที่ 17 ก.ค. พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ฝั่งพรรคฝ่ายค้านคัดค้านการตั้งงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีการเสนอในการจัดทำงบประมาณทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอตัดงบฯ นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กองทัพเรือทำตามหน้าที่ที่เราต้องเสนอทุกปี เป็นขั้นตอนตามปกติ เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม ในการดำรงภารกิจของตัวเอง ส่วนจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้น ก็ไม่เป็นอะไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมาธิการฯ และรัฐสภา ไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้น
เมื่อถามว่า การเสนอจัดซื้ออาวุธช่วงนี้ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์โควิด พล.ร.อ.เชษฐา กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอขึ้นไป ไม่ว่าเสนอปีไหนก็โดน และไม่ใช่เพิ่งโดน ก็โดนมาตลอด จะเลือกจากประเทศไหน ก็โดนโจมตี
เมื่อถามต่อถึงกรณีสังคมไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนนั้น พล.ร.อ.เชษฐา กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอ คงต้องรอการพิจารณาในขั้นตอนของกรรมาธิการฯ ซึ่งฝ่ายค้านเขาก็ทำหน้าที่ของเขา กองทัพเรือก็ทำหน้าที่ของเรา หากเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นอะไร เมื่อกองทัพมีแผนพัฒนาเพื่อดำรงความพร้อมตามหน้าที่ เราก็ต้องทำ เมื่อเว้นไปก็จะมีผลกระทบ เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะของแพ็กเกจ เมื่อจัดหาลำหนึ่งมาแล้ว จำเป็นต้องมีลำที่ 2-3 เพื่อนำมาหมุนเวียน ช่วงซ่อมบำรุง ซึ่งมีปัจจัยหลายหลายอย่างเข้ามาประกอบ
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในการตั้งงบประมาณปี 65 ได้มีการเจรจากับจีนขอลดวงเงินในปีแรกลง 1 ใน 3 ตามคำแนะนำของฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเตรียมข้อมูล เหตุผลจำเป็น ชี้แจงในคณะกรรมาธิการฯ ส่วนรายละเอียดเรื่องตัวเลข โดยทางกองประชาสัมพันธ์กองทัพเรือจะนำมาเผยแพร่ต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ นั้นจะใช้ระบบออนไลน์ โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ เสนาธิการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ปลัดบัญชีทุกเหล่าทัพ จะอยู่ ณ ที่ตั้งหน่วยของตัวเองแล้วชี้แจงผ่านระบบออนไลน์ไปยังห้องประชุมคณะกรรมาธิการฯ.