จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กังวลปัญหาหนี้สินครัวเรือนจากวิกฤติโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี โดยตั้งเป้าหมายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งสองกลุ่มอาชีพสำคัญที่เป็นเป้าหมาย และมีปัญหาหนี้สินที่หมักหมมมาช้านาน นั่นคือ กลุ่มข้าราชการครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการแก้ปัญหา ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 พล.ต.ต.สุรชัย เจ็ดพี่น้องร่วมใจ ผบก.สก. ได้มีบันทึกข้อความส่วนราชการ สก. ที่ 0009.332/4395 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. แจ้งผลการสำรวจข้อมูลสถานภาพกำลังพลข้าราชการในภาพรวมเมื่อเดือน กันยายน 2564 มีข้าราชการตำรวจทั้งสิ้น จำนวน 219,551 คน แยกเป็นชั้นสัญญาบัตร จำนวน 89,430 คน ชั้นประทวน จำนวน 130,121 คน เป็นหนี้สินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ประมาณ 245,535 ราย วงเงินหนี้สินประมาณ 203,217 ล้านบาท

เหตุผลที่จำนวนคนกู้มากกว่าจำนวนกำลังพลปัจจุบัน เนื่องจากข้าราชการตำรวจบางรายที่เกษียณอายุราชการแล้ว ยังต้องผ่อนชำระเงินอยู่ และแต่เดิมมีการเปิดโอกาสให้ข้าราชการตำรวจ 1 ราย สามารถเป็นสมาชิกได้หลายสหกรณ์ ส่วนข้อมูลหนี้สินกับสถานบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีผู้เป็นหนี้สินประมาณ 37,197 ราย วงเงินหนี้สินจำนวน 28,129 ล้านบาทเศษ ธนาคารออมสิน มีผู้เป็นหนี้สินประมาณ 36,102 ราย วงเงินหนี้สินจำนวน 21,140 ล้านบาทเศษ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีผู้เป็นหนี้สินประมาณ 58,936 ราย วงเงินหนี้สินจำนวน 20,500 ล้านบาทเศษ รวมยอดหนี้สินทั้งหมด ประมาณ 272,986 ล้านบาทเศษ

ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ได้สำรวจข้อมูลสถานภาพกำลังพลข้าราชการตำรวจ มีจำนวนทั้งสิ้น 205,840 คน ข้าราชการตำรวจไม่มีหนี้สิน จำนวน 41,189 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ข้าราชการตำรวจเป็นหนี้สิน จำนวน 164,291 คน ได้จัดกลุ่มหนี้สินออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีเขียว จำนวน 161,868 คน คิดเป็น 78.8 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มสีเหลือง จำนวน 1,751 คน คิดเป็น 0.9 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มสีแดง จำนวน 672 คน คิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ เมื่อ 23 พฤศจิกายน ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา เห็นควรให้คณะทำงานฯ ระดับ ตร. คัดเลือกสหกรณ์ต้นแบบนำร่องในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ต้นแบบ นั้น

ล่าสุดวันที่ 21 ธันวาคม 2564 พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้มีบันทึกข้อความส่วนราชการ ตร. ถึง ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า, ผบก. หรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัด สง.ผบ.ตร. กำหนดการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินออกเป็นห้วงระยะเวลาการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้

ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 9 เมษายน 2564 ถึง 15 ตุลาคม 2564 มีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5,571 ราย ซึ่งในภาพรวม ตร. คณะทำงานฯ ระดับ บช. และ ระดับ บก. ได้ดำเนินการแก้ไขสำเร็จ จำนวน 2,536 ราย คิดเป็น 46 เปอร์เซ็น คงเหลือผู้เข้าร่วมโครงการ 3,035 ราย ให้นำไปดำเนินการแก้ไขในระยะที่ 2

ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 ถึง 15 พฤศจิกายน 2564 มีผู้เข้าร่วมโครงการจากระยะที่ 1 3,035 ราย และมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น จำนวน 1,607 ราย รวมเป็น 4,642 ราย ดำเนินการแก้ไขสำเร็จ จำนวน 87 ราย คงเหลือ 4,555 ราย ที่จะดำเนินการต่อในระยะที่ 3 ตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน 2564 ถึง 15 มีนาคม 2565

ทั้งนี้คณะทำงานฯ ระดับ ตร. ได้ประชุมหารือพร้อมกำหนดวัตถุประสงค์และคุณสมบัติของสหกรณ์ต้นแบบ ดังนี้

1.ต้องเป็นสหกรณ์นำร่องในการแก้ปัญหาหนี้สินให้แก่สมาชิก โดยนำหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดมาทดลองในการลดต้นทุนต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การใช้สินทรัพย์ และ Future income ที่มีมายุบยอดหนี้ให้ลดลง เพื่อให้สมาชิกมีเงินเดือนเหลือใช้ในการดำรงชีพ และเป็นต้นแบบให้สหกรณ์อื่นนำไปใช้ดำเนินการ

2.เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และหากมีเงินเหลือเพียงพอในการที่จะช่วยเหลือสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานในสังกัด ตร. ที่ขาดสภาพคล่องด้วยการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

3.เพื่อให้เป็นแหล่งออมเงินและส่งเสริมความมั่นคงทางด้านการเงินให้กับข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ

โดยให้คณะทำงานฯ บช.ภ.1-9 พิจารณาคัดเลือกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสังกัดที่มีศักยภาพและสมัครใจที่จะเป็นสหกรณ์ต้นแบบในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำในสังกัด บช. ละ 1 แห่ง ตามวัตถุประสงค์และคุณสมบัติข้างต้น สำหรับคณะทำงานฯ บช.อื่น ที่มีสหกรณ์ในสังกัดมากกว่า 1 แห่ง หากมีความประสงค์ที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำในสังกัด ให้พิจารณาคัดเลือกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสังกัดที่มีศักยภาพ และสมัครใจที่จะเป็นสหกรณ์ต้นแบบ บช. ละ 1 แห่ง ส่วน บช. ที่มีสหกรณ์ในสังกัดจำนวนแห่งเดียว สมัครใจหรือไม่ก็ได้ ยกเว้นสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจนครบาล จำกัด โดยรายงานผลสหกรณ์ต้นแบบให้ ตร. ทราบ (ผ่าน ผบก.สก.) ภายใน 7 มกราคม 2565