ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเร็วๆนี้ เวทีคุยเรื่องถนน จัดโดย สำนักงานสนับสนุนกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)ในระบบซูม (zoom)ในหัวข้อ “โควิด19 VS Road Safety ภัยในโลกคู่ขนานบนเกาะภูเก็ต” ภายหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) พญ.เหมือนแพร บุญล้อมนายแพทย์ชำนาญพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจ.ภูเก็ต กล่าวว่า  ขณะนี้นักท่องเที่ยวเข้ามายังเกาะภูเก็ต เฉลี่ย 300-500 คนต่อวัน ซึ่งการท่องเที่ยวภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ส่วนใหญ่จะมาในลักษณะเป็นครอบครัว หรือคนที่ตั้งใจมาอยู่ยาว และบางส่วนกลับมาหาครอบครัว ด้วยข้อจำกัดภายใต้สถานการณ์โควิด ทำให้นักท่องเที่ยวต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงคาดว่าตัวเลขอุบัติเหตุไม่น่าจะสูงขึ้นในช่วงนี้  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมานักท่องเที่ยวในประเทศฝั่งตะวันตกมักเช่ารถจักรยานยนต์ (จจย.) และมักเกิดอุบัติเหตุ  ทั้งนี้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปกติก่อนการแพร่ระบาดโควิดนั้นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 10 %ของยอดรวมอุบัติเหตุที่เหลือเป็นคนไทยแม้ช่วงโควิดที่การจราจรเบาบางลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงมากอยู่ ในปี 62 ยังสูงถึง 120 ราย ส่วนสถิติล่าสุดในปีนี้ 64 เพียงครึ่งปีมีผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไปแล้ว 60 ราย 

พญ.เหมือนพร กล่าวต่อว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นประเด็นสำคัญในภูเก็ต โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่ในช่วงนี้ได้ให้ความสำคัญ การรับมือเช่นเดียวกับการระบาดของโควิด-19

 ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์’ ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย และรองประธาน สอจร. กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวในภูเก็ตหายไป จากปีละ 14 ล้านคน เหลือเพียงหลักพัน ทำให้ภาพรวมยอดตายจากอุบัติเหตุลดลง 3% อย่างไรก็ตามสถิติการสวมหมวกกันน็อกในภูเก็ต ถือว่าอยู่ในอัตราที่พอใช้ได้ ประมาณ 60% แต่ในช่วงโควิดการตั้งด่านลดน้อยลง การบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจจับก็เบาบางลงไปด้วย  จากเดิมที่มีการจับปีละแสนกว่าๆ เหลือ 6 หมื่น โดยเฉพาะลดการตรวจด่านแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ตำรวจภูเก็ตได้ไปเน้นการตรวจจับความเร็วและสวมหมวกกันน็อก ด้วยกล้องระบบ AI ที่ทั้งเกาะมีอยู่ 10 กว่าเครื่อง ซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่ลดใช้ความเร็วลงได้

นพ.วิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ผ่านมาเกิดอัตราครองเตียง1ใน3ของระบบสาธารณสุข ยิ่งในภาวะโควิดจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องดำเนินมาตรการควบคู่กันไป การทำงานอุบัติเหตุต้องไม่ลดความสำคัญ หากทุกวันนี้คนขับขี่จยย.ทุกคัน สวมหมวกกันน็อก เหมือนกับใส่หน้ากากอนามัย จะช่วยลดคนตายลงได้ไม่ต่ำกว่า ปีละ 7-8 พันคน