นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากกรณีมีการนำเสนอข่าวสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ตั้งกระทู้ถาม วธ. เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ค้าออนไลน์บางราย มีการใช้ถ้อยคำพูดหยาบคายและแต่งกายไลฟ์สดขายสินค้าไม่เหมาะสม และมองว่า วธ.ละเลยไม่ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น วธ.ขอขอบคุณ ส.ว.และสื่อมวลชน ที่ให้ความสนใจ ขอยืนยันว่า วธ. ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าการผลิต การจำหน่ายสินค้า การโฆษณา และการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าหรือผู้บริโภค สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการรู้เท่าทันสื่อ หรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะหรือยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการเลือกรับสื่อ ซึ่งการแต่งกายไม่เหมาะสม หรือใช้ภาษาหยาบคาย ไม่สุภาพ แต่มีผู้สนใจเข้าชม หรือซื้อสินค้าจำนวนมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้

โฆษก วธ. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา วธ. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม เช่น 1.กรณีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ใช้คำไม่สุภาพ ในการไลฟ์สดขายสินค้า วธ. ได้ตรวจสอบพบกรณีมีผู้ขายสินค้าออนไลน์ที่ไลฟ์สดขายสินค้าทางเพจเฟซบุ๊กบางเพจ ซึ่ง วธ. ได้วิเคราะห์แล้วว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงได้มีหนังสือประสานงานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว 2. กรณีการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมในการขายสินค้าช่วงที่ผ่านมา อาทิ แม่ค้าขายขนมโตเกียว ที่ จ.เชียงใหม่ และแม่ค้าขายเฉาก๊วยนมสด ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วธ. ได้มอบหมายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ลงพื้นที่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน พูดคุยและชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจจะเข้าข่ายลามกอนาจาร โดยขอความร่วมมือ ให้ปรับปรุงการแต่งกายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และได้ทำบันทึกข้อตกลงที่จะไม่แต่งกายล่อแหลมลักษณะดังกล่าวอีก และหากพบเห็นมีการเผยแพร่หรือส่งต่อภาพการแต่งกายล่อแหลมในสื่อสังคมออนไลน์อีก จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายประสพ กล่าวด้วยว่า วธ. เข้าใจถึงสถานการณ์วิกฤติจากโรคโควิด-19 ซึ่งทุกคนต้องมีอาชีพและหารายได้ในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นการค้าขายโดยสุจริตและมีวิธีการขายสินค้า หรือกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจหลากหลาย ทำให้ขายสินค้าได้มาก แต่ขอให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม ต่อเด็ก เยาวชน รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามหรือภาพลักษณ์โดยรวมของสังคมไทยด้วย ทุกคนสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย ที่ผ่านมาได้มีตัวอย่างของผู้ค้าออนไลน์หลายคนที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ไม่ต้องแต่งกายที่ล่อแหลมและไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ประชาชนในฐานะลูกค้าสามารถใช้มาตรการทางสังคมโดยไม่สนับสนุนผู้ค้าออนไลน์ที่ใช้ภาษาหยาบคาย หรือแต่งกายไม่เหมาะสม และสนับสนุนการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ค้าออนไลน์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น วธ. จึงขอความร่วมมือผู้ค้าออนไลน์และผู้บริโภคทุกคนช่วยกันแก้ไขปรับปรุงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมไปด้วยกัน

“วธ.จะรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว อาทิ จัดเสวนารับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนเรื่องการใช้ภาษาไทยและการแต่งกายในการขายสินค้า โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ โดยเชิญผู้แทนกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วม เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สื่อมวลชน นักวิชาการด้านการตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการขายสินค้าออนไลน์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมมาเสวนาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน รวมถึงดำเนินการส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมการขายสินค้าโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ขณะเดียวกันประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ผ่านช่องทางสายด่วนวัฒนธรรม 1765 เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ของ วธ.” โฆษก วธ. กล่าว