ทุกการแข่งขันย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ใช่กับการประกวดแข่งขันศิลปะการเต้นระดับประเทศ CSTD Thailand Dance Grand Prix เพราะเวทีนี้  “ผู้ชนะ คือ ผู้ที่ไม่ยอมแพ้”  เช่นเดียวกับ “ฐิตาภา เติมเจริญผล” หรือ “น้องแซนด์ทราย” สาวน้อยวัย 20 ปี มีหัวใจรักการเต้น ใช้ความทุ่มเท มุ่งมั่น ความพยายามและไม่เคยหยุดพัฒนา จนสามารถคว้ารางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทคะแนนรวมประเภทเดี่ยว และ Championship ครั้งที่ 8 ในปีนี้  “ทีนโซน” เลยจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “น้องแซนด์ทราย” ให้มากขึ้น รวมถึงพูดคุยกับ คุณครูต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้แทนสถาบัน CSTD ประเทศไทย ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและความฝันของเด็กไทยมากมาย

“ฐิตาภา เติมเจริญผล” หรือ “น้องแซนด์ทราย”

จุดเริ่มต้นของความฝัน?

“แซนด์เริ่มเรียนเต้นตั้งแต่ตอนเด็กมาก ๆ ตอนนั้นอายุ 4 ขวบ จำได้ว่าเราเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปที่ดูชอบดูการ์ตูน แล้วคุณแม่ซื้อการ์ตูนเรื่อง Barbie in the Nutcracker (บาร์บี้ อิน เดอะ นัทแครกเกอร์) ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับบัลเลต์ เลยเป็นแรงบันดาลใจให้แซนด์อยากเรียนบัลเลต์ค่ะ แล้วบ้านแซนด์จะส่งเสริมด้านกิจกรรมอยู่แล้ว พอได้เรียนแล้วก็รู้สึกว่าสนุก อยากจะเต้นได้เหมือนคุณครู พอโตขึ้นก็เริ่มมีโอกาสได้เห็นรุ่นพี่ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเต้นไปเรื่อย ๆ”

16 ปีที่ผ่านมาเคยเจออุปสรรคในการฝึกซ้อม หรือท้อแท้ อย่างไรบ้าง?

“เรื่องอุปสรรคและความท้อแท้ก็มีบ้างค่ะ แต่ต้องบอกว่าทั้งคุณครู ครอบครัว และเพื่อน ๆ ที่เราได้เจอ ก็จะให้พลังงานบวกกับเรามาก ๆ  ทุกคนรักกันเหมือนเป็นครอบครัว เวลาที่เกิดอะไรขึ้น มีปัญหา ท้อแท้ ผิดหวัง ทุกคนก็จะช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจ เราจะเจอโมเมนต์น่ารัก ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าพลาดไปก็ไม่เป็นไร ฮึดสู้ขึ้นมาใหม่ได้เสมอ ตั้งสติใหม่ เริ่มทุกอย่างใหม่ ไม่ต้องกังวลถึงสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว”

การแข่งขันในปีนี้?

“เข้มข้นมาก ๆ เลยค่ะ ความรู้สึกที่แข่งกับกล้อง กับบรรยากาศที่มีคนดูจริง ๆ ค่อนข้างแตกต่างกันนะคะ ถ้าเราไปแข่งบนเวทีเราจะได้เห็นคนที่เต้นก่อนหน้าเรา มีคนดูเยอะ ๆ ก็เป็นความตื่นเต้นอีกแบบหนึ่ง ส่วนการแข่งขันในรูปแบบ นิว นอร์มอล ที่ต้องอัดวิดีโอ แซนรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เราได้มีโอกาสได้ลองทำ อาจจะเป็นปีเดียวที่เราได้แข่งในรูปแบบนี้ อีกอย่างหนึ่งในปีนี้เหมือนการแข่งกับตัวเองมากกว่า เพราะเวลาเราแข่งบนเวที ก็จะเห็นเพื่อน ๆ และมีองค์ประกอบอื่น ๆ เยอะแยะไปหมด แต่การแข่งขันในรูปแบบนี้ ทำให้เราโฟกัสกับตัวเองเยอะขึ้น (ยิ้ม)”

ไอดอลหรือต้นแบบด้านการเต้น?

“คุณครูทุกคนเป็นไอดอลให้เราหมดเลย ตั้งแต่ครูคนแรกที่สอนแซนด์ จนถึงครูคนปัจจุบัน หรือแม้แต่ครูที่แซนด์ไม่เคยเรียนหรือทำระบำด้วย แต่ว่าเรามีโอกาสได้เห็นเวลาที่ครูทำระบำให้น้อง ๆ  ฯลฯ ทุกคนเลยเป็นต้นแบบให้แซนด์หมดเลย จริง ๆ ไม่ใช่แค่การทำระบำนะคะ คุณครูทุกคนยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนในด้านการใช้ชีวิต และมารยาทในการเข้าสังคมต่าง ๆ ด้วย แม้เราจะไม่ได้จะไปเต้นนักเต้นก็ตาม”

มุมมองของผู้ชนะ?

จริง ๆ เรื่องแพ้ชนะ เป็นธรรมดาของการแข่งขันอยู่แล้ว คำว่า “ชนะ ของแซนด์ คือ การได้ชนะใจตัวเองมากกว่า” เราได้มีความสุขกับการเต้นแต่ถ้าพูดถึงรางวัลเป็นเหมือนของขวัญให้คุณครูมากกว่า ที่เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เทคนิคต่าง ๆ จากครูหลาย ๆ ท่าน แล้วเป็นของขวัญให้คุณพ่อคุณแม่ที่สนับสนุนเรามาตั้งแต่เล็ก ๆ จนวันนี้เราเป็นคุณครูสอนน้อง ๆ ได้แล้ว และจริง ๆ แซนด์รู้สึกว่าการที่เราแพ้ก็มีส่วนที่มีประโยชน์เหมือนกับการที่เราชนะเพราะจะทำให้เราได้เรียนรู้ว่ามีจุดไหน ที่เราพลาด และเราต้องพัฒนา แต่ต่อให้เราชนะก็ยังต้องพัฒนาตัวเอง ไปเรื่อย ๆ ค่ะ”

คุณครูต้อย-นางสาววัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้แทนสถาบัน CSTD ประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix?

“ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน เราไม่เคยมีเวทีแข่งขันเต้นเพื่อพัฒนาศิลปะจริง ๆ มาก่อนเลย ส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันเพื่อโปรโมทหรือเปิดตัวสินค้า อีกอย่าง คนเอเชียพอพูดถึงการแข่งขัน ก็จะขับเคี่ยวกันมาก แทบจะฆ่ากัน แต่ความจริงแล้วจุดประสงค์หลักที่เราจัดกิจกรรมนี้ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตัวเอง เลยต้องสร้างความเข้าใจ และหาเครือข่าย คือ สถาบัน CSTD ของทวีปออสเตรเลีย ทุกการแข่งขันต้องมีผู้ชนะแน่นอน ใครเก่งก็ต้องชนะ แต่ว่าไม่มีผู้แพ้ เราเลยมาพัฒนาครูของ Bangkok Dance Academy เราเริ่มเข้าไปร่วมแข่งครั้งแรกในปี 2005 ตอนนั้นเราใหม่มาก ปรากฏว่าในตอนนั้นเครื่องเสียงเพลงไม่เล่น ซีดีมีปัญหา ในขณะที่เด็กเราจะขึ้นแข่งแล้ว มีคุณครูถึง 5 คนวิ่งเอาคอมพิวเตอร์มาช่วย เพื่อให้เด็กของเราสามารถแข่งได้ เป็นสิ่งที่เราประทับใจมาก เลยพยายามละลายพฤติกรรมของการแข่งขัน ไม่ให้รู้สึกกว่ากลัวแพ้ หรือคิดว่าเด็กของตัวเองยังเก่งไม่พอ เลยให้คนไทยรวมทีมไปแข่งในระดับนานาชาติก่อนที่จะได้จัดในประเทศ”

การแข่งขัน CSTD ประเทศไทยครั้งที่ 8

“ปีนี้เราเลื่อนการแข่งขันมาถึง 3 ครั้ง เพราะสถานการณ์โควิด-19 เลยใช้วิธีการแบ่งการแข่งขันเป็น 2 พาร์ท จัดในรูปแบบโซโล่ก่อน  แต่ยังต้องคงมาตรฐานและความเป็นสากลเอาไว้ ทุกคนเลยต้องมาทำการแสดง และถ่ายทำ ที่สถานที่เดียวกัน ตากล้องคนเดียวกัน แสงเดียวกัน กฎระเบียบเดียวกัน และกรรมการคนเดียวกัน ทำทุกอย่างเหมือนตอนแข่งในโรงละคร กรรมการจะได้เห็นผู้เข้าแข่งขันพร้อมกับผู้ชมเลย ดูและตัดสินเดี๋ยวนั้นเลย ส่วนในพาร์ทสอง เมื่อเรา รวมตัวกันได้มากขึ้น ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น จะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ก.พ. ปีหน้าค่ะ”  

8 ปีที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการเด็กไทยเป็นยังไงบ้าง?

“พัฒนาการก้าวกระโดดเลยนะคะ ไม่ใช่แค่นักเรียน แต่รวมถึงครูด้วย เหมือนเราได้เปิดโลกทัศน์ให้เขา ทำให้เด็กเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี อย่างการแข่งขันระดับนานาชาติ จะมีโชว์ที่เราสามารถเลือกระบำประจำชาติของแต่ละประเทศได้ อย่าง ประเทศจีน เราไม่เคยรู้เลยว่าแต่ละรัฐ แต่ละเผ่าพันธุ์เต้นแต่งต่างกันมาก ของไทยก็มีหลากหลายระบำเช่นกัน ต่างชาติอาจจะคิดว่าประเทศไทยมีแค่ชฎา แต่เรายังมีอะไรอีกเยอะ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปในตัวค่ะ”

เวทีนี้ไม่มีผู้แพ้?

“ทุกการแข่งขันต้องมีผู้ชนะ ผู้ชนะก็จะชนะอยู่เรื่อย ๆ เพราะเขาเก่ง ทุกครั้งที่ประชุมกัน เราจะเน้นตลอดเวลาคุณครูทุกคนต้องทำเข้าใจกับนักเรียนได้ว่า เมื่อเขาแพ้ ร้องไห้ได้ค่ะ แต่ต้องเข้าใจว่า ที่ฉันร้องไห้ เพราะฉันผิดหวัง เสียใจ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจว่าคนที่ชนะเขาเก่งกว่าเราจริง ๆ  เขายกขาได้สูงกว่าเรา เขาหมุนแล้วมั่นคงกว่าเรา เขากระโดดลงมาแล้วนิ่งมา ถ้าเขาเข้าใจแบบนี้ เขาจะมีกำลังใจที่จะไปฝึกฝนตัวเองต่อไป”

ทุกคนสามารถเข้าถึงศิลปะการเต้นได้?

“สมัยก่อนที่เรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่นัก ช่วงที่เปิดโรงเรียนใหม่ ๆ เรามีเด็กที่เขาไม่มีแขนครึ่งหนึ่ง แต่มีนิ้วสองนิ้วอยู่ตรงข้อศอก เขาเกิดมาเป็นแบบนี้ตั้งแต่ต้น แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็น่ารักมาก ส่งเสริมให้เขาเรียนศิลปะ เพราะ ศิลปะทำให้เรารักตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับใคร เราสอนเขามาตลอดเลยตั้งแต่ 5 ขวบ จนถึงเกรด 5 แต่เขายังไม่มีโอกาสได้สอบเลย เพราะตอนนั้นต้องได้รับการรับรองการสอบจากต่างประเทศ ซึ่งยังไม่เปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ครบ 32 หรือ มีปัญหาทางสมองได้สอบ แต่สมัยนี้โลกทุกอย่างเปลี่ยนไป เราได้คุยกับ เด็บบี้ แมคริชชี่ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ สถาบัน CSTD ออสเตรเลีย เราถามเขาว่าสามารถสอบให้กับเด็กคนนี้ได้ไหม เขาก็ถามกลับมาว่ามืออีกข้างเต้นได้ไหม นี่แหละคือจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่เราไม่ควรแบ่งแยกเพศ อายุ หรือแม้แต่ความพิการ เราอยากจะส่งเสริมเขาให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำ ทุกวันนี้เราก็มีเด็กพิเศษเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็จะดูเป็นรายบุคคล ซึ่งเราจะไม่แยกเขาออกจากเด็กปกติ เราเชื่อว่าเขาจะปรับตัวเข้ากับสังคมได้ เพราะในอนาคต บางครั้งเราเลือกไม่ได้ว่าจะไปอยู่ในสังคมหรือสภาพแวดล้อมแบบไหน”

เตรียมปักหมุดพบกับการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix Part 2 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะจัดขึ้นอีกครั้ง เร็ว ๆ นี้  ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/cstdthailand