เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอสนับสนุนรัฐบาลในการเจรจากับบริษัทแอสตราเซเนกา ให้จัดส่งวัคซีนให้ไทยตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลไทยแจ้งไว้ตั้งแต่แรก เพราะจากการตกลงล่วงหน้าระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทแอสตราเซเนกา ในการจองซื้อวัคซีนแอสตราเซเนการวม 61 ล้านโด๊ส พร้อมกับส่งไทม์ไลน์การขอให้จัดส่งวัคซีนให้ไทยตั้งแต่แรก และทางบริษัทแอสตราเซเนกาไม่ได้ตอบปฏิเสธแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าจำนวนมาก ซึ่งยิ่งทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องได้วัคซีนแอสตราเซเนกาตามกำหนด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงเดือน ก.ค.64 ไทยต้องได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 10 ล้านโด๊ส ปรากฏว่าทางบริษัทแอสตราเซเนกาไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ไทยได้ตามกำหนด ด้วยเหตุผลที่ต้องส่งออกไปให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

“ผมจึงขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเจรจากับบริษัทแอสตราเซเนกา เพื่อขอให้จัดส่งวัคซีนให้ไทยตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ เพราะการเจรจาครั้งนี้รัฐบาลไทยเพียงแต่ขอให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจัดส่งวัคซีนให้ตามไทม์ไลน์ที่ได้ตกลงกันแล้วเท่านั้น ไทยไม่ได้ขอให้งดการส่งออกทั้งหมดแต่อย่างใด บริษัทแอสตราเซเนกายังสามารถส่งวัคซีนจำนวนที่เหลือไปได้ตามปกติ ซึ่งการที่บริษัทแอสตราเซเนกา ไม่ส่งมอบวัคซีนให้ไทยในภาวะวิกฤติที่มีการระบาดของเชื้อเดลต้ามาก ที่บังคับให้รัฐบาลไทยต้องใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาแทน ซิโนแวค จึงมีความจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องขอให้ทางบริษัทแอสตราเซเนกา ส่งวัคซีนให้ไทยตามข้อตกลง เพราะการแจ้งเลื่อนการส่งวัคซีนฉุกละหุกแบบนี้ไทยไม่สามารถติดต่อสั่งซื้อวัคซีนอื่นมาแทนได้ทัน” นพ.ระวี กล่าว

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า มีบทเรียนจากประเทศอินเดีย ที่มีกำลังการผลิตวัคซีนถึง 200 ล้านโด๊สต่อเดือน และทุกบริษัทในอินเดียก็มีสัญญาส่งให้ภายในประเทศ และส่งออกภายนอกประเทศ เมื่อมีการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าอย่างรุนแรง รัฐบาลอินเดียตัดสินใจระงับการส่งออกว่าวัคซีนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้ภายในประเทศเท่านั้น รัฐบาลอินเดียก็ได้ทำมาแล้ว โดยไม่สนใจประชาคมโลกที่จองวัคซีน และปัจจุบันนี้ที่การระบาดในอินเดียลดลงมาแล้ว เขาก็ยังไม่ยอมให้มีการส่งออก รัฐบาลอินเดียตั้งเป้าต้องฉีดวัคซีนให้ชาวอินเดียให้ได้เป็น1,000 ล้านคน จึงจะยอมให้ส่งออกวัคซีนได้

“ในอดีตที่รัฐบาลไทยถูกเรียกร้องให้จัดซื้อวัคซีนต่างๆ ที่หลากหลาย มีคนโจมตีวัคซีนทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา แต่รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจเลือก แอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนหลัก 61 ล้านโด๊ส และยืนยันมาจนถึงทุกวันนี้ พอในยามวิกฤติบริษัทแอสตราเซเนกา กลับจะมาทิ้งประเทศไทยแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องการเจรจาด้วยเหตุด้วยผลระหว่างสองฝ่ายเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ที่รัฐบาลควรจะทำ สุดท้าย ถ้าการเจรจาแบบมีเหตุมีผลไม่ได้รับการตอบสนอง ผมสนับสนุนให้รัฐบาลไทยต้องเลือกดำเนินการตามกฏหมายที่มี เพื่อบังคับบริษัทแอสตราเซเนกาให้ดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ #THAILAND FIRST” นพ.ระวี กล่าว.