รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทพีทีอีเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัทออโรสจำกัด และบริษัทพิสุทธิ์เทคโนโลยีจำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองมหาสารคาม (ด้านตะวันออก) เริ่มต้นสัญญา 23 ก.พ.64 ถึงวันที่ 17 ก.พ.65 ระยะเวลา 360 วัน

โครงการนี้ได้จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการมาแล้วเมื่อเดือน เม.ย.64 รวมทั้งได้จัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ชี้แจงและพิจารณาแนวสายทางและรูปแบบทางเลือกโครงการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แลกเปลี่ยนความคิด และข้อเสนอแนะที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม อ.เมือง จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 9 ก.ค.64 

ซึ่งที่ปรึกษาได้เสนอแนวทางเลือก 3 แนวทาง ได้แก่ 1.สายสีม่วง ระยะทาง 11.528 กม. แนวเส้นผ่านพื้นที่ ต.เกิ้ง ต.เขวา อ.เมือง และ ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จุดเริ่มต้นโครงการจากบริเวณแยกวังยาว พื้นที่ หมู่ 8 ต.เกิ้ง แนวเส้นทางมุ่งขนานไปกับคันกั้นน้ำชี ผ่าน หมู่ 4 ต.เกิ้ง ตัดข้ามแม่น้ำชี (จุดที่ 1) เข้าสู่พื้นที่ ต.ท่าขอนยาง ตัดข้ามแม่น้ำชี (จุดที่ 2) จากนั้นตัดผ่าน ถนน ทล.2367 เขต หมู่ 9 ต.เกิ้ง มุ่งไปทาง หมู่ 10 หมู่ 6 หมู่ 5 ต.เกิ้ง ตัดผ่านห้วยคะคาง สิ้นสุดที่บริเวณแยกบ้านหม้อพื้นที่ หมู่ 11 ต.เขวา  

2.สายสีเหลือง 10.277 กม. แนวเส้นผ่านพื้นที่ ต.เกิ้ง และ ต.เขวา อ.เมืองมหาสารคาม จุดเริ่มต้นที่แยกวังยาว หมู่ 8 ต.เกิ้ง ขนานไปกับคันกั้นน้ำชี ผ่านปลายบึงใหญ่ หมู่ 4 ต.เกิ้ง ผ่านลำห้วยยาง เข้าสู่ หมู่ 3 และ หมู่ 4 ตัดผ่านถนน ทล.2367 เขต หมู่3 บริเวณช่องว่างระหว่างเสาไฟฟ้าแรงสูง เข้าสู่พื้นที่ หมู่ 12 ตัดผ่านห้วยคะคาง สิ้นสุดที่แยกบ้านหม้อ หมู่ 11 ต.เขวา

และ 3.สายสีแดง 12.049 กม. แนวเส้นผ่านพื้นที่ ต.เกิ้ง และ ต.เขวา อ.เมืองมหาสารคาม จุดเริ่มต้นที่แยกวังยาว หมู่ 8 ต.เกิ้ง ขนานไปกับคันกั้นน้ำชี พื้นที่ หมู่ 14 ผ่านพื้นที่ของบึงใหญ่ เขต หมู่ 4 เข้าสู่เขต หมู่ 3 จากนั้นตัดผ่าน ถนน ทล.2367 บริเวณช่องว่างระหว่างเสาไฟฟ้าแรงสูง แนวมุ่งหน้าสู่พื้นที่ หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 6 และ หมู่ 5 จากนั้นตัดผ่านห้วยคะคาง สิ้นสุดที่แยกบ้านหม้อ หมู่ 11 ต.เขวา  

รูปแบบเบื้องต้นก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรไป-กลับ ทั้งนี้ผลประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางเลือกที่ 2 (สายสีเหลือง) เพราะสามารถเชื่อมโยงโครงข่าย ทล.291 ทางเลี่ยงเมืองมหาสารคาม (ด้านตะวันตก) ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีเส้นทางที่สั้นที่สุด และรองรับการขยายตัวของเมืองมหาสารคามด้านทิศตะวันออกได้ สร้างความเจริญเติบโตให้กับพื้นที่บริเวณแนวถนนโครงการทางฝั่งซ้ายที่ติดกับแม่น้ำชี นอกจากนี้ขอให้ ทล. ให้ความสำคัญเรื่องการระบายน้ำและค่าชดเชยเวนคืนที่เหมาะสมด้วย 

หลังจากนี้จะสรุปผลประชุม จากนั้นเดือน ก.ย.64 จะจัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมให้หน่วยงาน ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบ ก่อนจะจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ช่วง พ.ย.64 เพื่อเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดกระทบ และ จะจัดประชุมครั้งที่ 3 ช่วง ก.พ.65 เพื่อสรุปผลการศึกษา งบประมาณก่อสร้าง และ การจัดกรรมสิทธิ์ (เวนคืน) ต่อไป ก่อนเตรียมออก พ.ร.ฎ.เวนคืน จ่ายค่าชดเชย และของบประมาณในการก่อสร้าง คาดว่าจะก่อสร้างในปี 69 แล้วเสร็จปี 71

ซึ่งทำให้ถนนเลี่ยงเมืองมหาสารคาม (ด้านตะวันตก) ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นโครงข่ายถนนดังกล่าวมีความสมบูรณ์ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ปัญหาจราจรในเขตชุมชนเมือง และระบายการจราจรไปสู่พื้นที่เขตจังหวัดข้างเคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยเฉพาะ 4 กลุ่มจังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ให้มีการคมนาคมและขนส่งสินค้า สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้น