การจัดครั้งแรก ปี 1996 ที่สิงคโปร์ รอบแรก ไทย กับ เวียดนาม อยู่คนละกลุ่ม ก่อนจ๊ะเอ๋รอบรองชนะเลิศ หลังจากไทยได้แชมป์กลุ่ม B ส่วนเวียดนาม ที่ 2 กลุ่ม A ซึ่ง ไทย ชนะ 4-2 ได้จาก เกียรติศักด์ เสนาเมือง, เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ 2 ลูก และ วรวุฒิ ศรีมะฆะ ก่อนที่ ทีมชาติไทย ไปต่อถึงแชมป์

ปี 1998 โยกไปจัดที่เวียดนาม ครั้งนั้นกระแสบอลของเจ้าภาพมาแรง คงจำกันได้กับนัดสุดท้ายรอบแรกที่ ไทย พบ อินโดนีเซีย แล้วทีมอิเหนาเลี้ยงไปยิงเข้าประตูตัวเอง ทำให้ ไทยชนะ 3-2 เพราะต้องการหนีเวียดนาม ทำให้ ไทย ต้องเดินทางไกลจาก นครโฮจิมินห์ ไปสู่ กรุงฮานอย และเราก็แพ้ให้ เวียดนาม ไป 0-3 ทว่าครั้งนั้น เวียดนาม ไม่ถึงฝั่งฝัน ไปแพ้ สิงคโปร์ รอบชิงชนะเลิศ

ข้ามไปปี 2002 ถึงมาเจออีกที ในรอบรองชนะเลิศ ที่เสนายัน ทีมไทย ถล่ม 4-0 วรวุฒิ ศรีมะฆะ, ณรงค์ชัย วชิรบาล, มานิตย์ น้อยเวช และ ศักดา เจิมดี คนละดอก ก่อนไทยไปคว้าแชมป์ ชนะจุดโทษ อินโดนีเซีย

มาถึงปี 2007 หวดกันรอบรองฯ อีกแล้ว เล่นระบบ เหย้าเยือน นัดแรกไทยบุกชนะ 2-0 จาก ดัสกร ทองเหลา กับ พิพัฒน์ ต้นกันยา ก่อนนัด 2 เสมอ 0-0 แต่ว่าหนนั้นไทยก็ไม่ถึงแชมป์ แพ้ สิงคโปร์ รอบชิงฯ

ปี 2008 เตะกัน 3 เกมเลย รอบแรกจัดที่ จ.ภูเก็ต ไทยชนะ 2-0 จาก สุธี สุขสมกิจ กับ สุเชาว์ นุชนุ่ม แล้วมาเจอกันอีก รอบชิงชนะเลิศ ที่เตะเหย้า-เยือน เกมแรก ไทยแพ้คาบ้าน 1-2 พอมาเกม 2 เสมอ 1-1 ธีรศิลป์ แดงดา ยิงให้ไทยก่อน แต่ เล คงวินห์ ตีเสมอ นาทีที่ 90+4 พา เวียดนาม แชมป์ครั้งแรก

ปี 2012 อยู่กลุ่มเดียวกัน ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ไทย ชนะ 3-1 กีรติ เขียวสมบัติ ซัด 2 เม็ด อีกลูก เวียดนาม ยิงตัวเองก่อนตกรอบแรก ส่วนไทยไปถึงแค่รองแชมป์ แพ้ สิงคโปร์(อีกแล้ว)

จากนั้น ไทย กับ เวียดนาม ก็แคล้วคลาด ไม่ได้เจอกันอีก ในศึกชิงแชมป์อาเซียน ศิริรวมแล้ว ดวลกันไป 9 ครั้ง ไทย ชนะ 5 ครั้ง, เวียดนาม ชนะ 2 ครั้ง และ เสมอ 2 ครั้ง โดย ไทยยิงได้ 17 ลูก และเวียดนาม ยิง 9 ลูก

นอกจากนี้ ยังมีสถิติที่น่าสนใจ ในผลงานรอบรองชนะเลิศ จากการจัด 12 ครั้งที่ผ่านมา ช้างศึก เข้ามารอบตัดเชือก 10 ครั้ง สามารถไปต่อถึงรอบชิงชนะเลิศได้ถึง 8 ครั้ง มีเพียง 2 ครั้งที่ตกม้าตาย คือปี 1998 ที่พยายามหนีเวียดนาม แต่สุดท้ายก็แพ้ 0-3 และครั้งล่าสุด ปี 2018 แพ้ มาเลเซีย แบบ “ฝันร้าย”

8 ครั้งที่เข้าชิงชนะเลิศ ไทย ได้มา 5 แชมป์

ส่วน เวียดนาม เข้ารอบรองฯ 10 ครั้งเช่นกัน แต่พาตัวเองไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ได้แค่ 3 ครั้ง จอดป้ายไป 7 ครั้ง ซึ่งรอบไฟนัล 3 หนของ ดาวทอง คว้าไป 2 แชมป์ รวมทั้งครั้งล่าสุด ปี 2018

ขณะที่การเจอกันล่าสุดของทั้ง 2 ทีม คือ ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 2 เสมอ 0-0 ทั้ง 2 นัด หากย้อนไปก่อนหน้านั้น คิงส์คัพ ปี 2019 ที่ จ.บุรีรัมย์ ไทย แพ้ 0-1 โดนยิงอึดใจสุดท้าย

ช่วง 1-2 ปี หลัง เวียดนาม ฟอร์มมาแรง จนแซงทีมชาติไทย ยึดเบอร์ 1 อาเซียน ยิ่งมาตอกย้ำข้อเท็จจริงว่าเหนือกว่าไทย ด้วยการเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายคัดบอลโลก แต่ไทยตกรอบ, แชมป์ซูซูกิคัพทีมล่าสุด รวมทั้งแชมป์ซีเกมส์ โดยเขี่ยไทยตกรอบแรก

ย่อมเป็นหนามยอกอกทีมชาติไทย ที่อยากจะพิสูจน์ให้รู้กันจะๆ ทั้งนักบอล ทั้งกองเชียร์ ต่างหมั่นเขี้ยว หมั่นไส้

การเจอกันเที่ยวนี้ ถึง ดาวทอง อันดับโลกดีกว่า ภาษีดีกว่า แต่ในรอบแรก ช้างศึก มาแบบแข็งแกร่ง ถ้ายึดทัพใหญ่ จากนัด 2 กับ นัด 3 ฟอร์มแรง จะมีเสียวก็ตรงแนวรับ ที่จะแจกโชค

ระยะเวลาเก็บตัวกำลังดี ตั้งแต่ต้นราวๆ 20 วัน กำลังพีก

ส่วนเวียดนาม ซ้อมต่อเนื่องยาวนาน จากคัดบอลโลก รอบ 12 ทีมท้ายเอเชีย แต่ก็น่าสงสัยถึงความเฉา เพราะโดนยักษ์เอเชียสอยมาหลายหมัด แพ้รวด 6 นัด

นอกจากนี้ นับจากระยะเวลาพักฟื้นของไทย ตั้งแต่เกมกับ ฟิลิปปินส์ วันที่ 14 ธ.ค. ทัพใหญ่มีเวลาซ้อมกว่าสัปดาห์ ส่วนเวียดนาม ต้องเอาจริงถึงนัดสุดท้ายวันที่ 19 ธ.ค.

ความสดเราจึงเหนือกว่า บางทีเจอกันตอนนี้ อาจดีกว่าลากไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ที่ไม่รู้จะน่วมจากรอบรองฯ แค่ไหน

ที่เหลือก็รอลุ้นกัน กับผลงานในสนาม

ความกระหายของช้างศึก กับความเขี้ยว แท็คติกของ ปาร์คฮังซอ

ใครจะคว้าชัย

ใครจะได้เสียงดังกว่ากัน

ติดตามกันได้ 23 และ 26 ธ.ค.นี้.
.
*** วุฒินล ***