ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวในการเป็นประธานเปิดสัมมนา “วุฒิสภาค้นหาเรื่องเด่นเพื่อเป็นนโยบาย(Best Practice)” ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถือเป็นความสูญเสียและเป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี และนำมาซึ่งความสูญเสียของครอบครัว โดยอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม ดวงไม่ดี แต่เป็นเรื่องความประมาท และการมีวินัยจราจร ทั้งนี้ หากเทียบกับบทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างดี โดยเฉพาะภาคประชาชน จึงควรนำความร่วมมือนี้มาใช้กับการป้องกันและลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทาถนน วุฒิสภา กล่าวว่าจากการถอดบทเรียน 11 จังหวัดต้นแบบการลดอุบัติเหตุทางถนนที่ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ทำให้เห็นถึงปัญหาและมาตรการเด่นที่นำมาเป็นนโยบายได้ 6 ประเด็น 1.สร้างวินัยความปลอดภัยทางถนน โดยโรงเรียนในจ.สิงห์บุรี และจ.สกลนคร 2.การสร้างวินัยความปลอดภัยทางถนน โดยมาตรการองค์กรนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูนและนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี 3. พลังชุมชน ท้องถิ่นเพื่อความปลอดภัยทางถนน จ.นครศรีธรรมราชและจ.ร้อยเอ็ด 4.การเสริมความปลอดภัยทางถนนด้วยการปรับวิศวกรรมและความร่วมมือกับพื้นที่ จ.ราชบุรีและจ.สุราษฎร์ธานี 5.การเสริมความปลอดภัยให้รถสาธารณะและรถนักเรียน จ.พะเยาและจ.เชียงราย และ 6.การเสริมความปลอดภัยเร่งใส่หมวกนิรภัย ด้วยกล้อง CCTV และ AI Software จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้มีการแถลงข้อมติร่วมจากเวทีสัมมนา พร้อมส่งมอบเรื่องงเด่นที่จะพัฒนาเป็นนโยบายให้กับ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความร่วมมือการดำเนินการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับอำเภอ ตำบล เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขอกล่าวชื่นชมและขอขอบคุณวุฒิสภา และคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา ที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับงานความปลอดภัยทางถนน และขยายผลการทำงานผ่านการเสนอเป็นนโยบาย ในวุฒิสภา จนบรรลุเป้าหมายการสร้างความปลอดภัยในถนนในระดับพื้นที่และทำงานร่วมกับ สสส. และ สอจร. ในการพัฒนาต้นแบบกลไกการขับเคลื่อนงานของจังหวัด เพื่อให้เจ้าของพื้นที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาและดูแลความปลอดภัยของชุมชนด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายและจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด