นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีคนสอบถามเรื่องการดูแลควบคุมราคาของยาฟ้าทะลายโจร และชุดตรวจโควิดนั้น ขอชี้แจงว่า ปัจจุบัน ชุดตรวจโควิด มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผู้ดูแล และแม้ไม่กี่วันมานี้ รมว.สาธารณสุข จะออกประกาศอนุญาตให้ประชาชนสามารถไปซื้อมาใช้เองได้ แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติเพราะ อย.ยังอยู่ระหว่างการรับขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าเพื่อขออนุญาตขึ้นทะเบียนอยู่ ดังนั้นการขายออนไลน์ในตอนนี้ จึงถือผิดกฎหมายเครื่องมือแพทย์ ซึ่งทาง อย.จะเป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การที่จะให้เข้าไปควบคุมราคานั้น ทางกระทรวงพาณิชย์รอข้อมูลรายละเอียดจาก อย.ว่าอนุญาตให้ผู้นำเข้ามาขึ้นทะเบียนกี่ราย ปริมาณเท่าใด ราคาต้นทุนเท่าใด ควรกำหนดราคาขายตามความเห็นของ อย.อย่างไร เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถกำหนดเองได้ เนื่องจากไม่มีพื้นฐานด้านเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นเมื่อกระทรวงสาธารณสุข ทำต้นเรื่องมาเสร็จแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็พร้อมดำเนินการทันที

“เรื่องการคุมราคาไม่ยาก แต่การกำหนดราคาให้สอดคล้องกับความหลากหลายของยี่ห้อ คุณภาพ มาตรฐาน และราคาต้นทุนที่แตกต่างกัน จะต้องดูให้รอบคอบ เช่น กำหนดราคาแล้วจะเป็นการสกัดไม่ให้มีการนำเข้าหรือไม่ เพราะถ้านำเข้ามาแล้วไม่มีกำไร ก็จะไม่มีผู้นำเข้ามา สุดท้ายประชาชนจะไม่มีชุดตรวจใช้ได้”

นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตนได้เสนอ ครม. ขอให้องค์การเภสัชกรรมเร่งนำเข้าชุดตรวจโควิดด้วยตัวเองให้มากและเร็วที่สุด เพื่อนำมาจำหน่ายในราคาที่ถูกที่สุดแก่ประชาชน ซึ่งจะได้กลายเป็นราคาชี้นำในตลาด และขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรเร่งรัดการนำเข้ามาให้มากที่สุดเพื่อนำมาแจกฟรีให้กับประชาชน เพราะมีงบประมาณและสามารถแจกฟรีได้ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าทางองค์การเภสัชกรรม กับ สปสช.ประชุมร่วมกันแล้วจะมีแผนที่จะนำเข้ามา 10 ล้านชุด  

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องยาฟ้าทะลายโจร ปัจจุบัน อย.ได้ขึ้นเป็นบัญชียาหลักสำหรับใช้ในโรงพยาบาล  ดังนั้น อย. กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ส่วนจะมีการกำหนดราคาควบคุมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกัน ซึ่งทางปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการ อย. องค์การเภสัชกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คุยกันแล้ว และมีข้อสังเกตว่าการที่จะกำหนดราคาควบคุมไปเลยต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบด้วย เพราะขณะนี้ยาฟ้าทะลายโจรอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ถ้าไปควบคุมราคาอาจทำให้ของหายจากตลาด เกิดการกักตุน ผู้ผลิตจะหยุดผลิตและเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์หรือไม่ ดังนั้นต้องมีการหารือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตามหากกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องควบคุม ก็สามารถใช้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดราคาควบคุมได้ ส่วนปัญหาการกักตุน และขายเกินราคา กระทรวงพาณิชย์กับสาธารณสุขจะช่วยกันดูแล โดยขอให้กรมการค้าภายใน เข้าไปดูว่าราคาอ้างอิงที่ควรจะเป็นเท่าไร ที่ทำให้ผู้ผลิตเดินหน้าผลิตต่อได้และไม่ทำให้ของขาดตลาด  ขณะเดียวกันจะร่วมกับ อย. องค์การเภสัชกรรม ผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อดูราคาอ้างอิง ขณะนี้หากขายเกินราคา หรือค้ากำไรเกินควร ก็มีโทษจำคุก 7 ปีปรับ 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ