“แหลม” หมายถึงแผ่นดินที่ยื่นออกไปในทะเล ชื่อชุมชนที่นี่ก็มีที่มาที่ไปจากลักษณะนั้น ว่ากันว่าบริเวณนี้มีผู้คนอาศัยยาวนานมากกว่า 100 ปี โดยมีเรื่องเล่าชื่อของหมู่บ้านที่สืบต่อกันมาว่า มีเทพองค์หนึ่งสิงสถิตอยู่ที่ต้นมะขามใหญ่อายุกว่า 100 ปี เป็นที่รู้จักในนาม “เจ้าพ่อต้นมะขามโพรง” จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านแหลมมะขาม” เจ้าของนิยาม “หมู่บ้าน 2 ประวัติศาสตร์ 3 วัฒนธรรม 3 ศาสนา” เพราะในพื้นที่ของวัดนั้น มีทั้งโต๊ะวาลีของศาสนาอิสลามและศาลเจ้าของพี่น้องชาวจีนอยู่รวมบริเวณเดียวกัน

นอกจากตำนานที่อยู่คู่กับชุมชนแล้ว กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบก็คือ การงมหอยปากเป็ด ซึ่งจะต้องมาให้ถูกช่วงเวลาราวเดือนมีนาคม-มิถุนายนเท่านั้น เพราะหลังจากเข้าหน้าฝนแล้วระดับน้ำจะสูงแบบที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกกันว่า “น้ำโต” แม้จะออกไปงมหอยไม่ได้แต่ก็ยังนั่งเรือเที่ยวชมป่าชายเลน หรือเยี่ยมเยือนกิจกรรมอื่น ๆ ในชุมชน

เริ่มต้นที่ “ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเสด็จฯ พระพุทธเจ้าหลวง” อ.สมโภชน์ วาสุกรี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนแหลมงอบฯ ผู้รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ชาวตราดเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จพ่อ พระพุทธเจ้าหลวง” กว่า 200 ภาพ มาจัดแสดงไว้โดยรอบของโถงบ้าน เพราะหวังว่าบ้านเกิดหลังนี้จะเป็นบ้านที่มีความหมายมากกว่าการทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัย

จากนั้นเยี่ยม “พิพิธภัณฑ์หุ่นไม้กระดาน” ของ คุณปู่สงกรานต์ ไรนุชพงศ์ ที่ดัดแปลงโรงสีโบราณเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมเครื่องมือช่างไม้โบราณอายุหลายร้อยปีของบรรพบุรุษ ที่ได้รวบรวมอุปกรณ์ที่ถูกทิ้งไว้เหล่านั้น แล้วมาออกแบบหุ่นไม้กระดานเพื่อแสดงการใช้งานของเครื่องมือแต่ละชิ้น โดยบางชิ้นสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วย โดยจัดแสดงท่าทางการใช้เครื่องมือช่างไม้โบราณได้อย่างเสมือนจริง หนึ่งในเครื่องใช้โบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้อายุกว่า 150 ปี ก็คือ “กระพอก” กล่องไม้สี่เหลี่ยมมีฝาครอบขายกสูงจากพื้นลักษณะคล้ายกับขันโตก ภูมิปัญญาดั้งเดิมอีกอย่างของบ้านแหลมมะขาม ใช้สำหรับใส่อาหารเพื่อป้องกันสัตว์และแมลง

ผู้ใหญ่สุเทพ บุญเพียร ได้ให้ช่างถอดแบบแล้วนำมาใช้เป็นภาชนะในการจัดเตรียมอาหารเพื่อเสิร์ฟให้กับผู้มาเยือนด้วย อยากรู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไรไม่ยากเพียงแค่รับประทานอาหารของชุมชนสักมื้อก็จะได้เห็นกระพอกที่ใช้งานจริง จะมีเมนูอะไรให้ลิ้มลองบ้างต้องลุ้น เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ชุมชนสามารถหาได้ในช่วงเวลานั้น เมนูเด็ดคือ ปลาพล่า มีปลาอินทรีเป็นส่วนประกอบหลัก โดยนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอคำแล้วนำมารวนให้สุกกับน้ำมะนาว จากนั้นบีบออกแล้วจึงปรุงด้วยน้ำปลา คลุกเคล้าให้เข้ากันกับผัก ทีเด็ดอยู่ที่น้ำจิ้มซึ่งมีถั่วลิสงบดเป็นส่วนผสมด้วย

แล้วไปหัดสานดาวที่ฐาน “งานจักสานคลุ้ม” จิต นานิคบุตร นำภูมิปัญญาท้องถิ่นนำคลุ้มมาใช้ประโยชน์ในงานจักสาน เพราะมอดไม่กิน ราไม่ขึ้น โดยออกแบบประยุกต์กับยุคสมัยปัจจุบัน มีทั้งตะกร้า โคมไฟ เครื่องประดับ อย่างต่างหู หรือของที่ระลึกอย่างพวงกุญแจ

อยากสัมผัสวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิดที่นี่มีที่พักแบบโฮมสเตย์รับรองด้วย ก่อนจะเที่ยวในชุมชนไปตามจุดต่าง ๆ ด้วยมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างแบบที่ชุมชนใช้สัญจร อยากไป “นั่งขอน นั่งเขียง กินเมี่ยง นอนเขลง บรรเลง…ที่แหลมมะขาม” สอบถามได้ที่ ผู้ใหญ่สุเทพ บุญเพียร โทร. 09-8860-2914 หรือ ททท.สำนักงานตราด โทร. 0-3959-7259

ก่อนกลับอย่าลืมแวะไปเช็กอินที่ประภาคารแหลมงอบ จุดชมวิวสุดแผ่นดินตะวันออก ชมทัศนียภาพทะเลตราดแบบพาโนรามาด้วย ติดตามรายการ “ท่องถึงถิ่น เที่ยวฟินวัฒนธรรม” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก TV5HD1 ทุกวันอังคาร เวลา 14.05-14.30 น. รับชมย้อนหลังช่องยูทูบ : เดลินิวส์