สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ว่านายบ็อบ โดล อดีตวุฒิสมาชิกอาวุโสแห่งรัฐแคนซัส และอดีตตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ถึงแก่กรรมอย่างสงบที่บ้านพัก ในรัฐแคนซัส รวมอายุได้ 98 ปี ทั้งนี้ ครอบครัวของโดลไม่ได้เปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิต แต่ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.พ.ปีนี้ โดลประกาศต่อสาธารณชน ว่าเขากำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย


ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต ร่วมแสดงความไว้อาลัยให้แก่โดล โดยเรียกแทนอีกฝ่ายว่า “เพื่อนรัก” และยกย่องในฐานะ “นักการเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพียงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกา” ขณะที่นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งลดธงชาติสหรัฐบนยอดเสาของอาคารรัฐสภาลงครึ่งเสา เพื่อแสดงความไว้อาลัยและเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์

นายบ็อบ โดล และนางเอลิซาเบธ โดล ภริยา บนเวทีประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ที่เมืองซานดิเอโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นการเสนอชื่อโดลในฐานะตัวแทนพรรค สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ


ทั้งนี้ นายบ็อบ โดล มีชื่อจริงว่า นายโรเบิร์ต โจเซฟ โดล เกิดเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2466 ที่เมืองรัสเซลล์ ในรัฐแคนซัส เริ่มต้นเส้นทางอาชีพในฐานะนักการเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยการได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และก้าวขึ้นสู่การดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก


ในส่วนของการแข่งขันชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีนั้น โดลเคยร่วมแข่งขันทั้งสองตำแหน่งมาแล้วหลายครั้ง โดยได้เป็นตัวแทนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2519 ในตำแหน่งรองผู้นำสหรัฐ คู่กับผู้นำในเวลานั้น คือประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด แต่พ่ายแพ้ให้กับนายจิมมี คาร์เตอร์ และนายวอลเทอร์ มอนเดล ตัวแทนของพรรคเดโมแครต


หลังจากนั้น โดลได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันอีกครั้ง คราวนี้ในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ของการเลือกตั้งเมื่อปี 2539 อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีบิล คลินตัน และรองประธานาธิบดีอัล กอร์ จากพรรคเดโมแครต คว้าชัยชนะเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน


อนึ่ง คลินตันมอบ “เหรียญอิสรภาพ” ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับพลเรือนสหรัฐ ให้แก่โดล เมื่อปี 2540 และเมื่อถึงเวลากล่าวสุนทรพจน์ โดลเริ่มพูดคำกล่าวสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐ ก่อนตัดบทเองแบบติดตลกว่า “พูดผิด”.

เครดิตภาพ : AP