กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับการเคหะแห่งชาติ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และสภาเด็กและเยาวชน เขตดินแดง จัดกิจกรรมเยาวชนรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็กเยาวชน และครอบครัว ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ความปลอดภัยในเด็ก” เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ รวมไปถึงการส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากปัญหาความรุนแรง
นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานด้านสังคมและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงอย่างต่อเนื่อง และสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาชุมชนดินแดง พ.ศ. 2563 – 2567 ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ชุมชนดินแดง เข้มแข็ง น่าอยู่ มั่นคง ยั่งยืน” ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนา 5 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนดินแดง และสามารถแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกัน โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมกำหนดแนวทางและกิจกรรมการพัฒนาร่วมกันยึดหลักพึ่งตนเอง การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับ กองคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานเขตดินแดง จัดกิจกรรมเยาวชนรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนในเคหะชุมชนดินแดง 1 ให้รู้ทันปัญหาและผลกระทบใกล้ตัวที่เกิดจากขยะ เข้าใจสาเหตุมองเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้วยทักษะการจัดการขยะโดยใช้หลักการ 3 R (Reduce Reuse Recycle)
นางสาวอุไร เล็กน้อย รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนที่พบว่าปัจจุบันมีการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในทุกรูปแบบเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการคุ้มครองเด็กให้เกิดการทำงานเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสามารถเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในทุกรูปแบบ ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการปกป้องคุ้มครองและอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก หรือ Child Protection Information Systemหรือ CPIS (ซี-พิส) โดยมีการเปิดใช้งานระบบในวันที่ 1 มีนาคม 2564 และการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการแถลงข่าวเปิดตัว Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งสภาเด็กและเยาวชน หน่วยงานราชการ ประชนชนทั่วไป และประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายคุ้มครองเด็กครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเกิดกิจกรรมบูรณาการร่วมกันระหว่างการเคหะแห่งชาติ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โดยทีมอาสาสมัครมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และสภาเด็กและเยาวชน เขตดินแดง ดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ความปลอดภัยในเด็ก” ในวันนี้