เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ยังมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรบางชุดยังคงประชุมอยู่ ฝ่าฝืนมติวิป 3 ฝ่ายว่า ตนได้ขอร้อง กมธ.ว่าขอให้งดการประชุมในช่วงนี้ออกไปก่อน 2 สัปดาห์ แต่ก็รู้สึกยินดีที่มีความขยันกัน แต่ในช่วงเวลานี้ก็ต้องขอร้อง โดยมีรายงานว่ามีกรรมาธิการบางคณะขยัน เช่น กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย แต่ก็อยากขอร้องให้งดประชุมภายใน 14 วันนี้ ยกเว้น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ได้ขอให้มีการประชุมในลักษณะระบบซูม เนื่องจากเป็นกรณีที่จำเป็น เพราะมีเรื่องเงื่อนเวลาที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็อนุโลมได้เท่าที่จำเป็น แต่ในส่วน กมธ.ทั่วไปนั้นขอร้องให้งดการประชุมออกไปก่อน แม้ว่าสภาฯ จะไม่ได้ไปบังคับว่าหากประชุมแล้วจะมีความผิด แต่ก็ต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาส่วนร่วมของบ้านเมือง
เมื่อถามว่า แต่ขอแล้วไม่ให้ความร่วมมือจะมีมาตรการอะไรหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า กรรมาธิการทั่วไปให้ความร่วมมือดี อาจจะมีเพียงแค่ 1-2 คณะเท่านั้น
นายชวน ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามกลไกแล้วนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่สามารถยุบสภาหรือลาออกได้หรือไม่ว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่มีการงดประชุมนี้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งกระบวนการเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับว่าจะต้องยื่นเข้ามา ซึ่งคณะทำงานในสภาฯก็ทำงานตามปกติ ยกเว้นไม่มีการประชุมวันพุธและวันพฤหัสบดี ส่วนการประชุมอื่นๆ ยังคงมีอยู่แต่เป็นลักษณะทางซูม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นให้ยุบสภาได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า อย่าไปสมมุติเลย ต้องไปถามฝ่ายบริหาร เมื่อถามว่า สถานการณ์ตอนนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวค่อนข้างมาก นายชวน กล่าวว่า ขอให้ไปถามฝ่ายบริหารดีกว่า
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นแกนนำหรือผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ มองเรื่องนี้อย่างไร นายชวน กล่าวว่า เหนือผู้ใหญ่ยังมีกำนัน อย่าไปให้ความเห็นเลย ขอให้ไปคุยกับฝ่ายบริหารและพรรคการเมืองดีกว่า เพราะว่าทุกพรรคมีผู้นำและผู้บริหารพรรคอยู่ ตนไม่ขอไปพูดอะไรที่เป็นการก้าวก่าย หรือล้ำหน้า แต่ในกระบวนการประชาธิปไตย การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีทุกสมัยประชุมสามัญ ถือเป็นเรื่องปกติ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่บริหาร ฝ่ายตรวจสอบก็มีหน้าที่ตรวจสอบ ถือเป็นภารกิจของแต่ละฝ่าย
เมื่อถามว่า ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องประกาศลาออกยุบสภาจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า สมัยแรกที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว โดยมีการอภิปรายก่อนลงมติ ซึ่งขณะนั้นพรรคร่วมรัฐบาลได้ถอนตัวก่อน ทำให้ตนต้องยุบสภา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวิถีประชาธิปไตย หมายถึงกระบวนการที่เกิดช่องให้ทำได้ในกรณีนั้น
เมื่อถามว่า ในสมัยที่ตัดสินยุบสภานั้น มีปัจจัยมาจากสถานการณ์บ้านเมืองหรือปัจจัยทางการเมือง นายชวน กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หากมีปัญหาเรื่องฝ่ายบริหารก็ต้องสอบถามฝ่ายบริหาร จะให้ไปก้าวล่วงหรือพูดชี้นำหรือไปวิจารณ์ก็ไม่เหมาะสม
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมองว่าปัญหาเรื่องการบริหารประเทศตอนนี้ควรแก้ไขอย่างไร นายชวน กล่าวว่า ก็เป็นไปตามเหตุการณ์ และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในหน้าที่ของตนเอง นี่คือจุดสำคัญที่สุดที่ในหลวง ร.9 ทรงแนะนำเรื่องการรับผิดชอบให้พิจารณาให้ถ่องแท้ว่าหน้าที่ของท่านคืออะไร แล้วทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต นี่คือกระบวนการของการแก้ปัญหาบ้านเมือง เพราะแต่ละคนก็มีหน้าที่ของตนเอง ลำพังคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ทั้งหมด ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเอง หากไม่ทำหน้าที่แล้วมีแต่เรียกร้องก็จะมีปัญหา มีหน้าที่แต่ไม่ทำ ไปเรียกร้องให้คนอื่นทำแต่ตัวเองไม่ทำก็มีปัญหาเหมือนกัน
เมื่อถามว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติของบ้านเมืองตอนนี้ การเปลี่ยนฝ่ายบริหารถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนให้ความเห็นไปแล้วว่าแต่ละฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเอง ปัญหาบ้านเมืองเป็นของคู่กันเสมอ ไม่มากก็น้อย อย่าไปแปลกใจ ดังนั้นจะต้องมีรัฐบาล ข้าราชการ ต้องมีแต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบในภารกิจของแต่ละฝ่าย โครงสร้างบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ จึงต้องตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาและบริหารบ้านเมือง แต่กลุ่มเดียวทำไม่ได้ จึงต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายบริหาร หากพิจารณาอย่าถ่องแท้ก็เห็นว่าแต่ละองค์กรต่างกำหนดหน้าที่ของแต่ละองค์กรเพื่อให้สมประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แสดงให้เห็นว่าทุกองค์กรมีบทบาทภารกิจของตนเองเพื่อจะได้แก้ปัญหาของตนเองให้สมบูรณ์ขึ้น ดังนั้นความสมดุลของปัญหาที่แต่ละองค์กรต้องปฏิบัติจึงมีส่วนสำคัญมาก