ถือเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการถ่ายทอดความเชื่อพื้นบ้าน สำหรับ “โบรกเกอร์ ออฟ เดธ (Broker of Death)” หนึ่งในตอนสุดหลอนจากโปรเจคท์ “โฟล์กลอร์ (Folklore)” ซีซั่น 2 ออริจินัลซีรีส์สยองขวัญจาก “เอชบีโอ เอชีย (HBO Asia)” ที่บอกเล่าตำนานลี้ลับทั่วเอเชีย สู่ซีรีส์ 6 ตอนจาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น  ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์  โดยเล่าเรื่องผ่านมุมมองอันหลากหลายและแตกต่างกันของผู้กำกับแต่ละคน

สำหรับ “โบรกเกอร์ ออฟ เดธ (Broker of Death)” เป็นผลงานของ โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ ที่เคยฝากผลงานจาก “แสงกระสือ” เขียนบทโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี นำแสดงโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ ไอดอลหน้าใสจาก “BNK48” ที่มารับบทบาทสุดท้าทาย อย่าง “เจิน” เด็กสาวที่ป่วยด้วยโรคลิวคีเมีย และมีชีวิตอย่างสิ้นหวัง แถมยังมีดราม่ากับคุณพ่อ “มานพ” รับบทโดย ต้น-นฑี งามแนวพรม ซึ่งทั้งคู่ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวดราม่าสุดหลอน เมื่อ “มานพ” (ต้น) พ่อม่ายวัย 45 ปี เจ้าของร้านเครื่องรางของขลัง ในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ แต่นั่นไม่ได้ทำเงินให้เขามากนัก โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลของลูกสาว “เจิน” (เจนนิษฐ์) ที่ป่วยเป็นโรคร้าย ด้วยเงินจำนวนมหาศาล และแท้จริงแล้วร้านเครื่องรางนี้เป็นแค่ฉากหน้า ทว่าแหล่งรายได้หลักของเขามาจากการเป็น “นายหน้าจัดหาศพ” ที่ทำการซื้อขายกับศพคนตาย วันหนึ่งเขาได้รับงานให้ไปเก็บศพ สำหรับนำมาใช้ในพิธีกรรม เพื่อเสริมอำนาจบารมีให้กับนักการเมืองผู้มั่งคั่ง “มานพ” จำเป็นต้องเลือกระหว่างความน่าหวาดกลัว วิญญาณหลอกหลอน หรือความจน  

ล่าสุด “บันเทิงเดลินิวส์” ได้พูดคุยกับผู้กำกับ โดม และ เจนนิษฐ์ ถึงขั้นตอนการถ่ายทำและไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ ที่มาพร้อมการสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำ ความบีบคั้นจากการถูกกดทับทางสังคม รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อเรื่อง “ของขลัง” ที่กลายเป็นสิ่งร่วมสมัย พร้อมเปิดมุมมองเมื่อต้องตัดสินใจเลือกทนระหว่าง “ความจน” หรือ “ผีหลอกหลอน” เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องกันก่อนไปเจอความสยองสุดดราม่าแบบจัดเต็ม!

Q : ทำไมถึงเลือกทำซีรีส์ “Broker Of Death” ไอเดียตั้งต้น มาจากไหน?

โดม : มันเกิดจากผมไปเจอข่าวที่มีชาวบ้านเข้าไปขโมยศพในป่าช้า ขโมยกะโหลกของคนตาย และเอาไปหลายกะโหลกเลย เลยตั้งคำถาม พอตามอ่านข่าวไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่านำไปทำเครื่องรางของขลัง จากนั้นรีเสิร์ชไปเรื่อย ๆ จึงค้นพบว่ามันมีกระบวนการ ธุรกิจและคนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการทำสิ่งนี้ ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เลย รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยนำมาสร้างเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนายหน้า ในการจัดหาสิ่งพวกนี้ ก็เป็นที่มาของเรื่อง ‘โบรกเกอร์ ออฟ เดธ’ ครับ

Q : ขั้นตอนการทำงานพาร์ทไหน ที่มีความสำคัญหรือมีรายละเอียดสูงที่สุด?

โดม : จริง ๆ ค่อนข้างทุกขั้นตอน อย่างขั้นตอนการทำบทก็สำคัญ พอดีมันเป็นเรื่องราวที่จะว่าไกลตัว ก็ดูไกล แต่จะว่าใกล้ตัวก็ใกล้ เราพอที่รู้เรื่องและเห็นภาพ แต่ว่าเราอาจยังไม่ได้เข้าไปขลุกกับคนที่ทำเรื่องพวกนี้จริง ๆ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการรีเสิร์ช ทั้งไปเห็นของจริง ภาพข่าว ค้นหาทางอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งถามคนที่เขาเคยอยู่ในวงการพวกนี้ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่ก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน  แต่ส่วนอื่นก็ไม่ได้คิดว่ามีความยากอะไร พอบทเสร็จ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการหานักแสดง และถ่ายทำตามปกติครับ

Q : ทำไมเลือก “เจนนิษฐ์” และ “ต้น-นฑี” มารับบทนักแสดงนำ?

โดม :  คาแรกเตอร์ของทั้งสองคน ตรงกับบทที่เขียนมากครับ อย่าง ‘มานพ’ (ต้น-นฑี) เราต้องการคนที่ดูมีปัญหาเรื่องส่วนตัว เรื่องเงิน เป็นพ่อค้าพระ เครื่องรางของขลัง ส่วนการแสดงนั้นของเจนนิษฐ์ก็ดีอยู่แล้ว อย่างที่ทุกคนได้เห็นผลงานเก่า ๆ ของเขา

Q : ย้อนไปในตอนแรกที่แคสติ้งผ่าน และได้อ่านบทครั้งแรก “เจนนิษฐ์” รู้สึกยังไงกับ “เจิน”?

เจนนิษฐ์ : รู้สึกว่าน่าสงสาร เขาไม่ได้เลือกที่ต้องมาป่วย ไม่ได้เลือกจะเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ดี และประสบกับเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ทำ และก็มีแต่เรื่องไม่ดีเข้ามาในชีวิต รู้สึกว่าเป็นตัวละครที่ไม่มีสิทธิเลือกอะไรเลยเหรอ และทำอะไรไม่ได้ด้วย เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากการกระทำของตัวเองด้วยซ้ำค่ะ เราเองยังไม่เคยอยู่ในจุดที่ลำบากแบบเขา ไม่ได้ป่วยแบบเขา เรายังได้ออกมาใช้ชีวิต หลังจากอ่านบทจบ ก็ยิ่งสงสารครอบครัวนี้ ว่าอยู่ภายใต้สิ่งที่มันครอบเขาไว้ให้ไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่านี้

Q : มีการเตรียมตัว และทำการบ้านในบท “เจิน” ยังไงบ้าง?

เจนนิษฐ์ : จริง ๆ ค่อนข้างรีเลท (Relate) กับตัวละครนี้ได้ง่ายค่ะ เป็นตัวละครที่อายุเท่ากัน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราเคยพบเห็นมา ไม่ได้แตกต่าง หรือไม่คุ้นเคย เรารู้สึกเข้าใจในสิ่งที่ ‘เจิน’ เป็นอยู่ และปัญหาที่พบเจอก็ค่อนข้างเป็นสิ่งที่เราเคยเห็น เลยอาจไม่ได้ยากในการเบลนด์อิน (Blend in) ให้เข้ากับตัวละคร แต่ยากตรงพาร์ทของการแสดงมากกว่าค่ะ

Q : แล้วประทับใจในส่วนไหนของตัวละคร “เจิน” เป็นพิเศษบ้างมั้ย?

เจนนิษฐ์ : น่าจะเป็นเรื่องของการคิดเหมือนกัน ด้วยความที่วัยเท่ากัน ถ้าเราเป็นตัวละครนั้น หรือคอนฟลิคท์ (Conflict) ที่มีกับพ่อของตัวเอง ก็คงรีแอคแบบเดียวกันค่ะ

Q : ปกติ “เจนนิษฐ์” กลัวผีมั้ย และการต้องมาแสดงเกี่ยวกับวิญญาณ ตำนานลี้ลับ มันยากง่ายสำหรับเรายังไงบ้าง?

เจนนิษฐ์ : สำหรับหนูก็กลัวไม่มากค่ะ คือไม่ได้ลบหลู่ ไม่ได้ทำอะไรที่รู้สึกว่าเข้าไปเสี่ยง ท้าทาย ล่าท้าผี อะไรแบบนี้ก็จะไม่ทำ และก็มีมูบ้าง เพื่อความสบายใจ (ยิ้ม) แต่ไม่ได้เชื่อว่ามันจะช่วยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็มีไว้เผื่อดี แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่อะไรที่น่ากลัวหรือทำแล้วมีผลไม่ดี ก็จะไม่ทำ ซึ่งคนรอบตัวก็ค่อนข้างมีความเชื่อเรื่องนี้กัน เราเลยมีแบบคิดว่าอาจจะจริง มันก็มีความย้อนแย้งกับตัวเองในบางทีว่าเชื่อรึเปล่านะ แต่ความยากเรื่องการถ่ายทำหนังผี คือด้วยความที่ตัวเองไม่ได้กลัวขนาดนั้น และเป็นคนที่กลัวแล้วไม่ค่อยแสดงออกมาก เป็นคนที่แอ๊คชั่นน้อย ก็อาจรู้สึกว่าต้องเพิ่มระดับความกลัว เพราะตัว ‘เจิน’ น่าจะกลัวผีมากกว่าเราด้วย อาจต้องมีการปรับ และมีการใช้ร่างกายที่แตกต่างจากเดิม จากธรรมชาติที่เราเป็นอยู่ค่ะ

Q : ในระหว่างถ่ายทำ มีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าน่ากลัวบ้างรึเปล่า?

เจนนิษฐ์ : ถ้าเป็นซีนที่หนูถ่ายเองส่วนตัวไม่คิดว่าน่ากลัวขนาดนั้น อาจเป็นเพราะบรรยากาศด้วย เวลาถ่ายก็จะมีทีมงานค่อนข้างเยอะ แต่ก็จะมีซีนที่จินตนาไปเองเหมือนกัน เวลาที่เรายืนเฉย ๆ แล้วคิดอะไรเรื่อยเปื่อยคนเดียว ก็จะคิดว่าเอ๊ะ! ถ้าหลังประตูบานนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่ทีมงาน แต่เป็นอย่างอื่น ก็อาจมีหลอน ๆ ขึ้นมาบ้างนิดหน่อย (หัวเราะ) แต่หนูรู้สึกว่าซีนที่น่ากลัวอาจเป็นซีนที่คนอื่นเล่น ที่หนูรู้สึกว่าน่ากลัวปนหดหู่ไปด้วยค่ะ

Q : ซีนที่อยู่ในความทรงจำของทั้งคู่ คือซีนอะไร?

เจนนิษฐ์ : อาจดูไม่มีอะไร แต่ว่าซีนที่ยากที่สุดสำหรับหนู ก็คือซีนกรี๊ดค่ะ (ยิ้ม) หนูคิดว่าการกรี๊ดแบบที่เราเคยเห็น แบบเคลียร์มาก ๆ เป็นสิ่งที่ติดตัวแต่ละคนมา ไม่ใช่จะทำได้ทุกคน คิดว่าซีนนั้นยากลำบากที่สุดแล้ว เพราะว่ามันฝืนธรรมชาติที่มีมา เพราะหนูเสียงแหบ

โดม :  จริง ๆ เป็นซีนท้าย ๆ ของเรื่องครับ แต่ว่าสปอยล์ไม่ได้ เขาสั่งมาว่าห้ามเล่าให้ฟัง (หัวเราะ) แต่เป็นซีนที่นักแสดงทุกคนทั้งตัว ‘เจิน’ ก็ค่อนข้างดูแล้วแปลกไปเลย ทุกคนอาจไม่เคยเห็นเจนนิษฐ์ เล่นในมุมนี้ครับ ก็อยากให้ติดตามครับ

Q : คิดว่าในทุกคนจะได้เห็นมุมใหม่ ๆ ของ “เจนนิษฐ์” ในฐานะนักแสดงยังไงบ้าง?

เจนนิษฐ์ : แน่นอนว่ามันค่อนข้างแตกต่างมากจากภาพในซีนเรื่องก่อน ๆ ที่จะเป็นการใช้ชีวิตของวัยรุ่นทั่วไป แต่เรื่องนี้จะมีความเหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเทคนิค มีเรื่องผี และการใช้การแสดงที่ยากขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้น ถ้าทุกคนเห็นก็น่าจะสลัดภาพเดิมออกไปได้เลยค่ะ

Q : ความยากของการแสดง และการถ่ายทำครั้งนี้คืออะไร  มีกรอบหรืออุปสรรคบ้างมั้ย?

โดม :  สำหรับผมในแง่ผู้กำกับ ความยากคงเป็นเรื่องของการที่เราไม่พยายามตัดสินว่าสิ่งที่เราเล่านั้น ใครเป็นคนที่ผิดหรือถูก ความยากคงเป็นการที่เรื่องนี้พยายามบาลานซ์และเป็นหนังที่ตั้งคำถามมากกว่าครับ ว่าเรื่องที่เราเล่าให้ฟัง ในแง่คนดูจะตอบมันยังไง จะรู้สึกกับมันยังไง จะรีแอคกับมันยังไงมากกว่า ความยากเลยเป็นเรื่องของการบาลานซ์ซีรีส์ตอนนี้ให้มันได้น้ำหนักอย่างที่เราต้องการครับ

เจนนิษฐ์ : สำหรับหนูเรื่องการแสดงแน่นอนว่ายากขึ้น เพราะว่ามีซีนที่ไม่เคยเล่นมาก่อน ใช้พลังงานและใช้เทคนิคที่ค่อนข้างแตกต่างจากเดิม แน่นอนว่าในฐานะนักแสดง สิ่งที่กดดันเรามากที่สุดก็จะเป็นเรื่องเวลา อยากทำให้ดีในเวลา เพื่อที่เราจะได้ไม่ไปลำบากคนอื่น แต่ก็สนุกมากกว่าค่ะ ไม่ได้กดดันขนาดนั้น เป็นความยากที่ท้าทายค่ะ ส่วนความท้าทายอื่น ๆ หนูว่านักแสดงทุกคนก็น่าจะเป็นนั่นคือการอยากทำผลงานให้ออกมาดีขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะเป็นกันหลายคนเวลาย้อนไปดูผลงานตัวเองก็จะจับผิด และรู้สึกว่าฉันน่าจะทำอันนี้ให้ดีกว่านี้ อยากกลับไปแก้ไข แต่แน่นอนว่าไม่ควรไปจมอยู่กับมัน เพราะมันเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ก็เป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ ว่าเราจะทำให้ดีขึ้น เราจะไม่พลาดแบบนี้อีกในเรื่องต่อ ๆ ไปค่ะ ก็เป็นการกดดันส่วนตัว ไม่ได้เป็นเชิงลบ แต่เป็นความมุ่งมั่นอยากทำให้ดีขึ้นค่ะ

Q : ในฐานะผู้กำกับการทำภาพยนตร์เพื่อฉายจอใหญ่ กับการฉายลงสตรีมมิ่ง มันมีวิธีการคิดหรือถ่ายทอด แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน?

โดม : หนังทุกเรื่องเราทำงานโดยมีมาตรฐานที่เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะทำหนังลงทีวี หรือหนังฉายในโรงภาพยนตร์ ทีมงานเราทำด้วยวิธีคิดเดียวกัน เพื่อให้ได้คุณภาพที่เหมือนกัน เพียงแต่หนังทีวี มีดีเทลที่แตกต่างกันนิดนึง คือมันอาจต้องใกล้หน่อย เพราะจอมันเล็ก คนดูอาจต้องมีพื้นที่กับระยะ กับตัวแสดง มันเป็นการปรับนิด ๆ หน่อย ๆ ที่ทำให้พอดีกับมุมมองของคนดูมากกว่า ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็คล้าย ๆ ไม่ได้แตกต่างกันครับ

Q : สำหรับโปรเจคท์ “Folklore” นั้นอยู่ในแพลตฟอร์มที่ฉายไปทั่วโลก ได้มีการใส่องค์ประกอบอะไร ที่มันจะตอบโจทย์คนดูทั่วโลกลงไปบ้างมั้ย?

โดม :  ผมเชื่อว่าตัวบท ที่พี่คงเดช (จาตุรันต์รัศมี) เขียนนั้นค่อนข้างจะสากลนะครับ เพราะมันพูดเรื่องที่เราเป็นคนไทย เราก็เข้าใจ และผมเชื่อว่าคนเกาหลีก็เข้าใจ คนอินโดนีเซียก็เข้าใจ แม้กระทั่งคนในยุโรปก็เข้าใจเรื่องนี้ ในแง่สคริปต์และคอนเซปต์ มันพูดเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหนังก็ถูกเล่าตามธรรมชาติของมัน ไม่ได้มีความพยายามปรุงแต่งมันมากนัก เพื่อให้คนดูเข้าใจ เพราะเราเชื่อว่าในแง่บทเอง มันค่อนข้างสากลอยู่แล้ว

Q : คิดว่าอะไรเป็นหลักสำคัญของเรื่อง ที่ทำให้ตอน “Broker Of Death”  แตกต่างไปจากตอนอื่น ๆ และดึงดูดให้ผู้ชมอินไปกับเรื่องราว?

โดม : เราตั้งใจทำเรื่องผี เพียงแต่เรื่องราวที่มันซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องผี มันมีเรื่องดราม่าของครอบครัวนี้อยู่ และมีคำถามจากคนทำ ที่ถามสังคมอยู่ว่าตกลงเรื่องนี้ มันถูกมองในแง่มุมไหนกันแน่ เราคิดว่าส่วนนี้น่าจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจของตอนนี้ครับ

เจนนิษฐ์ : สำหรับหนูรู้สึกว่าเรื่องราวที่เล่าในซีรีส์มันทำให้เห็นความแตกต่างของคนที่ฐานะยากจน กับคนที่มีฐานะ เข้ามาผูกโยงกันด้วยของขลังเหมือนกัน เป็นสิ่งที่รู้สึกทัชใจหนูมากที่สุดแล้วหลังจากที่ดู ก็คิดว่าคนก็น่าจะรู้สึกในสิ่งนี้เหมือนกันมากก็น้อย และทำให้ไปคิดต่อกันได้ค่ะ

Q : สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องคือการตั้งคำถามว่า ระหว่าง “ผี” กับ “ความจน” อะไรที่น่ากลัวกว่ากัน และทั้งคู่มีมุมมองต่อเรื่องนี้ยังไงบ้าง?

โดม :  อาจจะไม่บอกมุมมองส่วนตัว เดี๋ยวจะเป็นการชี้นำไปหน่อย แต่บอกความตั้งใจแล้วกันนะครับว่า หนังมันเล่าเรื่องผีก็จริง แต่สิ่งที่มันซ่อนอยู่ สิ่งที่หนังพยายามตั้งคำถามก็มีเมสเสจบางอย่างอยู่ ถ้าถามว่าเรามองมันยังไง ผมว่าเหมือนที่หนังมันถาม คือเราคงมองมันแบบตั้งคำถาม โดยที่ยังไม่มีบทสรุปว่าตกลงแล้ว สิ่งนี้มันเวิร์คหรือไม่ ผีหรือความจนที่น่ากลัวกว่ากัน หรือสิ่งนี้มันช่วยใคร มันเลือกคนช่วยมั้ย หรือมันยังไง มันมีคำถามพวกนี้เยอะมากอยู่ในหนัง ที่แล้วแต่คนจะถามถึงมัน ซึ่งผมเองคงไม่สามารถไปบอกว่ามันต้องสรุปแบบนี้นะ เพราะแม้กระทั่งผมเองก็ยังตั้งคำถามกับมันอยู่ ยังไม่ได้เจอว่าตกลงแล้วคำตอบมันคืออะไรครับ

เจนนิษฐ์ : สำหรับความจนกับผี มันก็แล้วแต่คนนะคะว่าจะกลัวสิ่งไหนมากกว่ากัน แต่หนูรู้สึกว่าหนังมันทำให้เรารอตั้งตาดูรีแอ๊คชั่น หรือตัวละครว่าสมมุติเจอทั้งสองสิ่งพร้อม ๆ กัน เขาจะเลือกทางไหน มันน่าจะเอาชนะทั้งสองสิ่งไม่ได้ หรืออาจสูญเสียหลายอย่างไปพร้อม ๆ กันเลย อาจมานั่งคิดเองเหมือนกัน ถ้าเราเป็นตัวละครที่ถูกบีบคั้นให้สถานการณ์ค่อนข้างมีเวลาน้อย และไม่ได้มีทางเลือกให้เรามาก เราจะเลือกทนกับความจนหรือจะเลือกทนกับผีมากกว่ากันค่ะ อาจเปรียบเทียบไม่ได้ ผีกับความจนมันมีความน่ากลัวคนละแบบ และคนก็กลัวไม่เหมือนกันด้วย เลยไปโฟกัสที่การตัดสินใจรับมือของแต่ละคนมากกว่าค่ะ

Q : “Broker Of Death” ถือเป็นตัวแทนของประเทศไทย สำหรับโปรเจคท์นี้ และอย่างที่รู้กันว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงอันดับต้น ๆ ของโลก อยากรู้ทัศนคติของทั้งคู่เกี่ยวกับการทำซีรี่ส์ในประเด็นดังกล่าว ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงแบบนี้ มองความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยยังไง?

เจนนิษฐ์ : สำหรับหนูรู้สึกว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่ยังไงก็ไม่สามารถหมดไปได้แบบสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม แต่มันทำได้แค่ให้มันน้อยลง หรือไม่ให้มันเลื่อมล้ำจนรู้สึกว่าน่าเกลียด ลดลงอยู่ในระดับที่คนที่ด้อยกว่าก็ยังได้รับในสิ่งที่ควรได้รับ แต่แน่นอนว่าคนเราแตกต่างกัน มีความสามารถแตกต่างกัน ต้องมีคนที่ได้มากกว่า เก่งกว่า เร็วกว่า มันไม่มีทางที่มนุษย์จะเป็นแบบยูโทเปีย ที่ทุกคนเท่าเทียม แค่เราเกิดมามันก็ต่างกันแล้ว แต่ละคนหน้าตาไม่เหมือนกัน ความสามารถ ความถนัดไม่เหมือนกันเลย ยังไงเราหลีกหนีความเลื่อมล้ำไม่ได้ค่ะ มนุษย์มันเปรียบเทียบกันอยู่เสมอ แต่คิดว่าถ้าทำได้ ก็อยากลดความเลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด อยู่ในระดับที่ยังสามารถบริหารจัดการให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ใช่ต้องดิ้นร้นหาด้วยตัวเอง สามารถได้รับสิ่งที่ควรจะได้มากกว่านี้ แต่คงไม่สามารถหนีพ้นเรื่องนี้ได้จริง ๆ

โดม :  ส่วนตัวคิดต่อจากเจนนิษฐ์พูด คือยิ่งมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เราต้องไม่ปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นรึเปล่า เช่น โอเคคนเรามันเลวโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราเป็นคนเลวกันเถอะ คิดแบบนั้นมันก็คง… โอเคความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องธรรมชาติก็จริง แต่ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมเดียวกัน มันคงต้องชวนกันคิดว่า ในเมื่อมันเป็นแบบนี้ มันมีหนทางอะไรที่จะแก้ไข หรือบรรเทาหรืออย่างน้อยทำให้ความไม่เท่ากันมันยุติธรรม ความเท่าเทียมมันต้องยุติธรรมด้วย คือมันอาจไม่ได้เท่ากันทุกคน แต่มันยุติธรรมสำหรับเขา มันเป็นมุมมองของผมมากว่า ว่ายิ่งนี่คือธรรมชาติของทุนนิยม คือธรรมชาติของโลกนี้ แต่ว่าคุณจะปล่อยให้เป็นธรรมชาติแบบนี้เหรอ มนุษย์ก็ควรตั้งคำถามเหมือนกัน และเราจะจัดการมันมั้ย อย่างน้อยช่วยกันนิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนกลับมาที่ซีรีส์ ถ้าพูดในมิติของความเชื่อ เรื่องนี้มันยิ่งไปไกลตรงที่มันตั้งคำถาม ซึ่งยังไม่มีคำตอบว่าตกลงแล้วมันเป็นเพราะอะไรกันแน่ ที่ทำให้คน ๆ นึงมันดีกว่าอีกคน คน ๆ นึงแย่กว่าอีกคน คน ๆ นึงได้รับสิ่งนี้ ทั้งที่ศรัทธาและขอในสิ่งนั้นเหมือนกัน ไม่รู้สิ มันอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวเรามาก ที่เรายังตั้งคำถามอยู่ มันอาจเป็นปัญหาโครงสร้าง เป็นปัญหาของจักรวาลเลยรึเปล่า ที่หนังเรื่องนี้พยายามตั้งคำถามอยู่ครับ

Q : ด้วยความที่เรื่องนี้พูดถึงเกี่ยวกับของขลัง อยากรู้ว่าทั้งคู่มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์รึเปล่า?

เจนนิษฐ์ : ส่วนตัวก็จะได้ยินเรื่องไสยศาสตร์มา เพราะทางฝั่งแม่เป็นคนต่างจังหวัด ครอบครัวอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ แถบอีสาน เรื่องนี้จัดเต็มมาก คนที่มีวิชาอาคมมาจากฝั่งเขมรบ้าง ลาวบ้าง มีการไล่คนที่คิดว่าเป็นปอบ ก็ยังมี ขนาดสองรุ่นขึ้นไปจากหนู ก็ยังคงมีอยู่ แต่ว่าเรื่องเครื่องรางของขลัง ก็จะมาเป็นฝั่งพ่อแทน ฝั่งป๊าหนูอยู่ในวงการเช่าพระ มีให้ใส่ตั้งแต่เด็ก ตอนเด็ก ๆ ไปโรงเรียนก็ต้องใส่พระสักหนึ่งองค์ ติดตัวตลอดค่ะ แม่ก็จะเห็นสิ่งลี้ลับด้วย เราเลยรู้สึกว่าเป็นความเชื่อที่กึ่ง ๆ ย้อนแย้งในตัวเอง ส่วนตัวคิดว่ามันพิสูจน์ไม่ได้ขนาดนั้น และผลลัพธ์คือเวลามีเรื่องดี ๆ เข้ามาก็ไม่สามารถตอบได้ว่ามันเป็นเพราะของขลังจริง หรือเป็นที่ดวงของเรา หรือความบังเอิญหรือความสามารถ เวลามีคนมาถาม เพราะเขารู้สึกว่าหนูมีของสายมูเยอะ เขาถามว่าอันเวิร์ก ๆ ดี ๆ บ้าง หนูก็บอกว่าตอบไม่ได้หรอก มีหลายอย่าง แต่ไม่รู้ว่าอะไรที่มันทำให้ได้ดี (ยิ้ม) หรือเป็นที่ดวงหรือความสามารถเรา ก็ไม่สามารถตอบได้ บอกได้แค่ว่าก็มีไว้เพื่อความสบายใจ เลยคิดว่าเป็นความเชื่อในแบบที่ อะไรที่ไม่ได้มีผลเสียภายหลัง ไม่ใช่ของสายดำ สายเทา เป็นแบบเพื่อความสบายใจ ทำให้เราคิดบวก ก็มีไว้ไม่เสียหาย แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่คิดว่าจะแย่อะไรค่ะ

โดม :  ผมเชื่อแบบห้าสิบห้าสิบมากกว่าครับ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง (หัวเราะ) แต่ก็ไหว้หมด เจอก็ไหว้

Q : ส่วนตัวมีความคิดเห็นยังไงในเรื่องของเครื่องรางของขลัง เรื่องผี เรื่องลึกลับ ที่มันมีความร่วมสมัย ทั้งในยุคปัจจุบัน และคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันแตกต่างจากการตีความในอดีตยังไงบ้าง?

 โดม :  ถ้าเราพูดเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง เรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ถ้าเราเขยิบไปมองมันในฐานะว่า ทำไมเรื่องนี้มันยังคงอยู่กับเรามาขนาดนี้ และคนก็รีแอคกับมันเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนต่างจังหวัดจะมีความเชื่อเรื่องนี้มากกว่าคนกรุงเทพฯ อันนี้ผมเถียงเลย (ยิ้ม) จริง ๆ แล้วคนในเมือง คนกรุงเทพฯ ยิ่งกว่าอีก ยิ่งเป็นมหาเศรษฐี หรือบางคนเป็นดอกเตอร์ มีการศึกษามาก แต่อีกมุมก็ยังเชื่อเรื่องนี้ ผมกลับสนใจมันในมิตินี้มากกว่าที่จะสนใจมันในมิติที่เป็นเรื่องผี เรื่องสิ่งลึกลับ ที่เรามองไม่เห็น ผมตีความในมุมนี้มากกว่า เลยพยายามเล่าเป็นหนังออกมา เพื่อที่จะตั้งคำถามถึงมัน แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่เจอคำตอบ ก็คงยังต้องถามต่อไปแหละว่าเป็นเพราะสิ่งไหน ตกลงมันช่วยเราจริงมั้ย หรือว่ามันไม่ได้ช่วยเรา หรือคนนั้นโชคดี มันมาแมตช์กันพอดี เคมีตรงกัน แต่ทำไมเราไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสิ่งเหล่านี้เลย ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีแค่ไหน ทำดีแค่ไหน ทุ่มเททั้งหมดในชีวิตของเราแค่ไหน มันเป็นคำถามที่เรามองความเชื่อและศรัทธาในมิตินี้ ที่มันเกี่ยวกับสังคมและมนุษย์มากกว่าครับ แต่ทำไมเราไม่เคยปฏิเสธมันเลยล่ะ ในเมื่อถ้าเราไม่เชื่อมัน มันไม่เคยช่วยอะไรเราเลย หรือแม้แต่ส่วนตัวก็ยังไม่ได้ปฏิเสธ มันยังคงเป็นความสับสนอลม่านอยู่ เหมือนกับหนังที่มันพยายามตั้งคำถามอยู่ เพียงแต่มันยังไม่มีจุดจบว่าเรื่องนี้มีคำตอบว่ายังไงกันแน่ครับ

เจนนิษฐ์ :  หนูมองว่าความร่วมสมัยนี่แหละค่ะ ที่มันทำให้ความเชื่อนี้มันเผยแพร่ออกไปได้ไกลขึ้น และเพิ่มมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อยากรู้อะไร เข้าในอินเทอร์เน็ตก็สามารถเจอได้เลย อันนี้ช่วยเรื่องอะไร เราสามารถหาสิ่งที่ช่วยเรื่องนี้ได้จากแหล่งไหน และพอมีช่องทางออนไลน์การซื้อขายก็กลายเป็นว่าง่ายขึ้นมาก ๆ ทั้งต่างจังหวัด หรือต่างประเทศก็สามารถส่งออนไลน์ได้ เมื่อมันซื้อได้ง่ายขึ้น คนก็ต้องการซื้อมากขึ้น ยังคงมีการผลิตพวกนี้มากขึ้น มันก็ไม่ได้หายไปไหน และรู้สึกว่ามันมีการพูดถึงมากขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อก่อนอาจเป็นแค่กลุ่มคนเป็นเซียนพระ พอตอนนี้นักศึกษา คนธรรมดา ทุกคนก็มีเครื่องรางของขลังหาได้ง่ายขึ้น จับต้องได้มากขึ้น ก็คิดว่าเทคโนโลยีที่มาพร้อมความร่วมสมัยนี่แหละค่ะ ที่ทำให้ความคงอยู่ของความเชื่อพวกนี้มันไปต่อได้

Q : พอได้มาทำโปรเจคท์นี้ คิดว่าตัวเองเติบโตในด้านการทำงาน ยังไงกันบ้าง?

โดม :  ส่วนตัวผมทำแต่ละงาน มันก็รู้สึกโตขึ้นอยู่แล้วนะครับ เราก็จะเจอโจทย์หรือปัญหาใหม่ ๆ ที่ต้องจัดการกับมัน และหนังเรื่องนี้ก็ค่อนข้างโตขึ้น ซีเรียสขึ้น เป็นดราม่าเกี่ยวกับพ่อลูก มีเรื่องความรู้สึกของคนที่โดนกดทับ ต้องดิ้นรน มันก็ทำให้เราในฐานะผู้กำกับต้องศึกษาและเรียนรู้และไปกับตัวละครที่โตขึ้นโดยปริยาย

เจนนิษฐ์ : ของหนูการแสดงก็ค่อนข้างแตกต่างจากเรื่องที่เคยทำมา ก็เป็นภาพใหม่ ๆ ที่เราทำลายขีดจำกัดขอตัวเองในการแสดงไปอีก ทั้งการใช้ร่างกาย การใช้เสียงที่ค่อนข้างยาก แต่ก็รู้สึกที่ได้ทำอะไรใหม่ ๆ อยากให้ทุกคนได้ดูค่ะ

Q : ความประทับใจซึ่งกันและกันหลังจากได้ร่วมงานครั้งนี้ คืออะไร?

โดม :  ก่อนหน้านี้เจนนิษฐ์ เล่น ‘แวร์ วี บีลอง (Where We Belong)’ และรู้สึกว่าน้องเล่นดีมาก เป็นคนฉลาด หัวไว พอได้ร่วมงานก็รู้สึกยินดี ไม่ผิดหวัง น้องก็ทำได้ดี ก็มีความประทับใจ และเราก็ได้หนังที่โอเค เมื่อผลงานมันเสร็จออกมาแล้ว เมื่อในทีมดูกัน ก็ค่อนข้างแฮปปี้ครับ

เจนนิษฐ์ : พี่โดมให้อิสระในการเล่นมากค่ะ หนูลองเล่นถ้าโอเคก็เล่นต่อ ถ้าอะไรที่รู้สึกขาด พี่โดมจะเติมให้ และเราก็ค่อย ๆ พัฒนาไป จริง ๆ ก่อนหน้านั้นที่จะมาร่วมงาน ด้วยลุคพี่โดมน่าจะดูจริงจัง ซีเรียส ดุกว่าพี่เดช (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) นิดหน่อย แต่หนูไม่ได้กลัวคนดุนะคะ แต่มีความรู้สึกว่าอยากชนะ ถ้าเราสามารถทำให้คนซีเรียสชื่นชมเราได้ รู้สึกมันจะคอมพลีท แต่ปรากฏว่าพี่โดมไม่ดุค่ะ (หัวเราะ)

Q : ทั้งคู่มีความคาดหวังยังไงต่อ “Broker of Death”  หรืออยากให้คนที่ได้ดูผลงานเรื่องนี้ ได้รับเมสเสจ (Message) หรือข้อคิดอะไรกลับออกไป?

เจนนิษฐ์ : เมสเสจที่หนูชอบมาก ๆ หลังจากที่ได้ดูเรื่องนี้ก็คือ ทำไมความต้องการของขลังมันยังมีสูงอยู่ ทั้งที่ประเทศหรือกาลเวลาทำให้คนเราพัฒนา คนเราเก่งขึ้น มีการศึกษาที่สูงขึ้น หรือทั้งหมดที่พยายามมามันยังไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จเหมือนที่เราคาดหวัง คือพยายามเยอะ เหนื่อยแค่ไหนก็ยังไปถึงจุดนั้นไม่ได้สักที หรือว่าเราอยากหลุดจากความลำบาก ความยากจน ที่ใช้แค่แรงกายไม่พอ ต้องใช้แรงความเชื่อที่มาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่มาช่วยเหลือเราตรงนี้ หรือว่าเราอยากได้ทางลัด หรือสิ่งที่เร็วกว่าคนอื่น เพื่อที่จะได้ชนะและไปต่อในจุดที่สูงกว่า

โดม :  ผมก็คล้ายกัน ๆ ครับ แต่โดยส่วนตัวอยากให้คนได้ดูตัวซีรีส์ ตัวละคร แล้วรู้สึกสะเทือนอารมณ์ หรือรู้สึกกลัวไปกับหนัง อันนี้คือความคาดหวังสูงสุด (ยิ้ม) ส่วนใครจะได้เมสเสจแค่ไหน หรือไม่ได้ก็ไม่ได้ผิดอะไร ก็แล้วแต่คนดูจะเทคมันยังไง แต่อันดับแรก ก็คงอยากให้ดูแล้วสะเทือนใจ ลุ้นไปกับตัวละครที่ประสบเรื่องราวต่าง ๆ ครับ

Q : สำหรับใครที่กลัวแนวสยอง แต่อยากดูซีรี่ส์เรื่องนี้มาก มีเทคนิคในการดูเรื่องนี้บ้างมั้ย?

เจนนิษฐ์ : หนูว่าเป็นหลายคนนะคะ เหมือนกินเผ็ด ทรมานแต่ก็กิน (ยิ้ม) อันนี้ดูซีรี่ส์ผีแล้วกลัว แต่ก็ชอบดู เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถหาได้จากสิ่งอื่น ทั้งความตื่นเต้น แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ที่กลัวผี คงไม่กล้าดูคนเดียว ก็หาเพื่อนดู มีเพื่อนดูก็สนุกกว่าเยอะ รีแอ๊คชั่นร่วมไปกับเรา กรี๊ดไปพร้อมกัน เพื่อนของหนูก็ชอบจิกเพื่อนข้าง ๆ จริง ๆ ไม่ดีนะคะ แต่ก็มีที่พึ่งทางจิตใจ ถ้าดูตอนกลางคืนไม่ไหว ก็ดูตอนกลางวันได้ หรือมีที่พึ่งทางจิตใจ ก็เอามาไว้ข้างตัว ก็ได้เหมือนกัน (หัวเราะ)

Q : ท้ายสุดในโปรเจคท์ “Folklore” มีทั้งหมด 6 ตอน และในฐานะที่เป็นตัวแทนซีรี่ส์จากประเทศไทยในโปรเจคท์นี้ รู้สึกยังไง และอยากอะไรถึงผู้ชมบ้าง?

โดม :  ก่อนอื่นรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมโปรเจคท์นี้ เราได้เล่าเรื่องแบบที่เราอยากเล่า มีเมสเสจที่เราอยากถาม มีเรื่องที่เราอยากส่งสารไปถึงคนดู ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็มีความน่าสนใจเหมือนกัน จริง ๆ ผมอยากดูของประเทศอินโดนีเซีย ก็น่าสนใจมาก เหมือนหนังฮอร์เรอร์ (Horror) ของอินโดนีเซียก็สุดยอด ไม่แพ้เรา อย่างของญี่ปุ่นก็น่าดู ในแต่เรื่องของแต่ละประเทศค่อนข้างมีความหลากหลาย ทั้งในแง่เรื่องราว ผู้กำกับและนักแสดง อยากให้ทุกคนได้ดูของทุกประเทศเลย น่าจะสมบูรณ์แบบตามโปรเจคท์ที่เขาคิดขึ้นมา กับ ‘โฟล์กลอร์’ ผมว่าน่าจะตอบโจทย์ ได้ความรู้สึกและเห็นมิติหลาย ๆ อย่างครับ

เจนนิษฐ์ : เวลาเราดูซีรีส์จากหลายประเทศมันจะมีกลิ่นและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมสุดท้ายแล้วมันก็ยังมีบางสิ่งที่มันเป็นปกติเหมือน ๆ กัน มันทำให้เรารู้สึกว่ามีครบรส ทั้งแตกต่างและเหมือนกัน รวมถึงการได้ร่วมงานกับเอชบีโอ โก ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับหนู ที่คนจะได้มีโอกาสดูการแสดงของหนูเยอะขึ้นในต่างประเทศ และได้ดูวัฒนธรรมและสิ่งที่มีความเป็นไทยมากขึ้นด้วยค่ะ

จัดเป็นอีกผลงานที่น่าสนใจ ที่สะท้อนความเชื่อ และอีกมุมของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี มาร่วมลุ้นไปกับตัดสินใจของตัวละครว่าจะเลือก “วิญญาณหลอน” หรือ “ความจน” ได้ใน “Broker of Death” ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ ทาง HBO GO