โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานของภาคีควบคุมยาสูบ ร่วมกับ มูลนิธิโพธิยาลัย และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาออนไลน์และนำเสนอการขับเคลื่อนงานวัดปลอดบุหรี่และลดปัจจัยเสี่ยงของเครือข่ายพระสงฆ์ 4 ภาค ในรูปแบบการประชุมเสมือน (Virtual Meeting) ผ่านระบบออนไลน์ และถ่ายทอดสดทาง Facebook Live เพจ ชวน ช่วย เลิกบุหรี่ ในหัวข้อ “พส. ชวน ช่วย เลิก” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้การทำงานเพื่อควบคุมยาสูบในวัด รวมถึงการดำเนินงานให้วัดเป็นสถานที่เพื่อสุขภาวะของประชาชน ผ่านตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานร่วมกับชุมชน โดยมีกลุ่มพระสงฆ์และตัวแทนประชาชนในภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุม
นางสาวนิรดา แสนรัตน์ ผู้รับผิดชอบโครงการสนับสนุนการสื่อสารงานของภาคีควบคุมยาสูบ (ชวน ช่วน เลิกบุหรี่) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานวัดปลอดบุหรี่ และลดปัจจัยเสี่ยงโดยกลไกพระสงฆ์ พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์และค้นหาแนวทางการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของกลุ่มพระสงฆ์และประชาชน ตลอดจนสื่อสารการขับเคลื่อนและผลการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบไปสู่สาธารณะให้เห็นการทำงานในระดับพื้นที่ต่าง ๆ
ด้าน พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ, ผศ.ดร. คณะอนุกรรมการวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากทั้ง 4 ภาค มาจากการประกาศธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 ที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีพระสงฆ์เป็นกลไกหลักในการหนุนเสริมกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมวัดสุขภาวะ หรือวัดปลอดบุหรี่ โดยมีประชาชนเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของพระสงฆ์
กลไกการทำงานของพระพระคิลานุปัฏฐากนั้น จะเป็นเหมือนรูปหัวใจที่มีสองฝั่ง คือ ฝั่งพระสงฆ์และฆราวาสที่ทำงานสอดประสานไปด้วยกัน โดยฆราวาสจะเป็นผู้ดูแลด้านกายภาพและสังคม ส่วนพระสงฆ์จะเป็นผู้ดูแลด้านจิตและสติปัญญา โดยภาคีเครือข่ายจากทั้งสองส่วนมาหลอมรวมเชื่อมต่อกันตรงกลาง ทั้งมหาเถระสมาคมกับกระทรวงสาธารณสุข มีพระคิลานุปัฏฐากเป็นแกนกลางอบรมพัฒนาศักยภาพ ภายใต้การหนุนเสริมจาก สสส. โดยพระสงฆ์รุ่นใหม่จะขับเคลื่อนให้วัดเป็น “วัดรอบรู้สุขภาพ” มีกลไกในการขับเคลื่อนงานร่วมกับชุมชน ยกระดับไปสู่การเรียนรู้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ และขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป
พร้อมหวังว่าการทำงานในรูปแบบนี้จะเป็นเมล็ดพันธุ์ไปสู่การทำงานในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ในอนาคต การทำงานของพระสงฆ์ในมิติตรงนี้มีความสำคัญ เพราะจะทำให้มีฐานข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่า พระสงฆ์มีการขับเคลื่อนงานเพื่อสุขภาวะอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งพระสงฆ์ ที่มีการดูแลด้วยกันเองตามหลักพระธรรมวินัย ทำให้สังคมได้เห็นว่าพระสงฆ์ก็มีอีกบทบาทหนึ่ง ที่สามารถเป็นนักพัฒนาสุขภาวะได้เช่นกัน
ด้าน พระครูโพธิวีรคุณ เจ้าคณะอำเภอปทุมรัตต์ ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ตัวแทนพระสงฆ์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการทำงานของเครือข่ายพระสงฆ์ในพื้นที่ว่า ได้เริ่มอบรมนำร่องพระคิลานุปัฏฐากตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้เป็นไปตามธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ สามารถดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ด้วยกันได้ จากนั้นได้เริ่มขยายจำนวนพระคิลานุปัฏฐากตั้งแต่ปี 2562-2563 เป็นต้นมา ทำให้ในขณะนี้ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 มีพระคิลานุปัฏฐากทั้งหมดแล้ว 713 รูป ซึ่งหลังจากนี้จะหาวิธีการเพื่อทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ ชุมชนเพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งสุขภาวะมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำด้านดูแลสุขภาพในชุมชน ซึ่งจะมีพระนิสิต ที่ศึกษาในระดับต่าง ๆ เป็นผู้เข้าร่วมดำเนินงาน พร้อมทำ MOU ทางวิชาการ ร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านการควบคุมยาสูบมากกว่าเดิม และขณะนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 4 ในการขับเคลื่อนโครงการ มีวัดที่เข้าร่วมกว่า 30 แห่ง ใน 4 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งก็พร้อมขยายการทำงานเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
พระครูเมธากร ฐิตเมโธ เจ้าอาวาสวัดไร่พรุ ตำบลน้ำฝุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง พระคิลานุปัฏฐากดีเด่นของอนามัย 12 ในฐานะตัวแทนพระสงฆ์จากภาคใต้ กล่าวว่า ในระยะแรกเริ่มจากอบรมพระคิลานุปัฏฐากเพื่อนำร่อง และเก็บข้อมูลว่ามีพระสูบบุหรี่กี่รูป แม้ว่าในระยะแรกพระสงฆ์อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องวัดปลอดบุหรี่ แต่ก็ใช้เรื่องของวาทะในการให้พระสงฆ์ได้เห็นถึงประโยชน์ในการเป็นต้นแบบสำหรับญาติโยม โดยเจ้าคณะจังหวัดได้วางนโยบายให้มีมาตรการงดสูบบุหรี่ในวัด ที่ใช้กฎหมายเข้ามาบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น พร้อมติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ ย้ำ ตักเตือนญาติโยมภายในวัด ส่วนกรณีงานบุญหรืองานศพต่าง ๆ ก็ได้ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อขอความร่วมมือญาติโยมในการงดสูบบุหรี่หรืออบายมุขภายในวัด และมีข้อเสนอว่า ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้เกิดการปรับและลงโทษจริง ขณะที่พระสงฆ์เองก็มีหน้าที่ในการพูดคุยตักเตือนและพยายามสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เจ้าภาพร่วมมือในเรื่องของการปลอดอบายมุข
ทั้งนี้ จังหวัดตรังได้อบรมพระคิลานุปัฏฐาก 2 รุ่น ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมขยายผลโครงการควบคุมยาสูบภายในวัดไปยังจังหวัดสตูล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายภาคประชาชนและชุมชนรอบข้าง รวมถึงโรงเรียนเป็นอย่างดี ผลงานโดยรวมพบว่า ขณะนี้ทำงานได้สำเร็จในระดับหนึ่ง แต่พระสงฆ์กับชุมชนรอบข้างเองก็ยังคงทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อเกิดกลไกในการดูแลร่วมกันในรูปแบบของ “บวร” คือ “บ้าน วัด และราชการ” ให้เป็นเครือข่ายดูแลสุขภาพในองค์รวมต่อไป
ส่วนพระมหาอนุวัต ฐิตเมโธ เจ้าอาวาสวัดหนองปลาขอ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในรองประธานเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากภาคเหนือ กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า จังหวัดลำพูน มีพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 30 ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม พบการสูบบุหรี่ประมาณ 7 – 8 รูป จาก 100 รูป ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพในภาคเหนือ เสนอโครงการดูแลสุขภาพในระดับจังหวัด คือ “หริภุญชัยอโรคยา” ให้เป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งกายใจของพระสงฆ์และประชาชนในพื้นที่ มีการประสานงานแบบองค์รวมให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน หรืออำนวยความสะดวกให้เข้าถึงกองทุนสุขภาพ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมดำเนินกิจกรรมปลอดอบายมุข สุรา บุหรี่ ซึ่งในจังหวัดลำพูนมีพระคิลานุปัฏฐากครบทั้ง 61 ตำบลคณะสงฆ์แล้ว และได้ทำงานร่วมกันในรูปแบบ 1 วัด 1 โรงพยาบาลทั้ง 78 แห่งทั้งจังหวัด ซึ่งรวมถึง รพ.สต. ด้วย ซึ่งทุกระดับในพื้นที่ จะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพตั้งแต่พระสงฆ์ สามเณร และประชาชน
ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่า เรื่องของการดำเนินงานเพื่องดอบายมุขในวัดนั้น ความท้าทายที่สำคัญคือ ญาติโยมหลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายในการห้ามสูบบุหรี่หรือดื่มสุราในวัด ดังนั้นจึงต้องอาศัยผู้นำชุมชน อสม. และเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลสร้างความเข้าใจไปพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะช่วยให้การทำงานขับเคลื่อนเพื่อปลอดอบายมุขในวัดมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิม
ด้านพระปัญญา จิตตปัญโญ, ดร. เจ้าอาวาสวัดโคกสำเริง ตำบลมะกอกหวาน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า โครงการวัดปลอดบุหรี่ มีที่มาจากเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา เป็นผู้อุปถัมภ์การดำเนินงานของสมัชชาสุขภาพของจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2540 จนนำมาสู่การทำงาน โดยอาศัยกลไกในการขับเคลื่อนในรูปแบบของ “ความรัก ความรู้ ความดี” ผ่านเครือข่าย “บวร” มีการตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และแน่วแน่ เหมือนกับเขียนไว้บนหินผา ส่วนกลยุทธ์หรือวิธีการเหมือนเขียนไว้บนพื้นทราย คือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทความแตกต่างกัน
ของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตั้งแต่ระดับอำเภอ 1 คณะ ระดับตำบล 5 คณะ สร้างความเข้าใจกับพระสงฆ์ด้วยกัน พร้อมได้กำหนดพื้นที่สร้างสรรค์ คือ กำหนดให้วัดในอำเภอโคกเจริญเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ทั้งอำเภอ และยังได้ดำเนินโครงการชวนพระสงฆ์ด้วยกันเลิกบุหรี่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมถึงอบรมสร้างความเข้าใจ พัฒนาความรู้พระคิลานุปัฏฐาก มีพระสงฆ์ สามเณรรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการมากขึ้น ทำให้วัดได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีวัดที่เต็มใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเพราะเห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ และเจ้าคณะอำเภอยังได้ให้การสนับสนุนให้วัดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ด้วย พร้อมกันนี้ได้บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายของ สสส. ในการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น “ชุนชนคนสู้เหล้า” “วัดปลอดบุหรี่ เหล้า พนัน” “งานบวชสร้างสุข” รวมทั้งเครือข่ายของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งมีการทำงานไปร่วมกันและประสบความสำเร็จพอสมควร