ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ในฐานะประธานโครงการ U2T เป็นประธานประกาศผลการประกวดชิงแชมป์ U2T National Hackathon 2021 ระดับประเทศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” หรือ U2T มีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ปรึกษา รมว.อว.และ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสื่อสารโครงการ U2T นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อพวช. ตลอดจน 40 ทีมสุดท้ายโครงการ U2T ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศมาร่วมจัดนิทรรศการผลงานพร้อมกับรอลุ้นผลการประกวด

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า โครงการ U2T เป็นความภูมิใจของ อว.ที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการใช้พลังของเยาวชน คนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาประเทศ โดย U2T ไม่ได้หวังผลแค่การจ้างงานเท่านั้น แต่เราหวังให้ผู้ได้รับการจ้างงานมาทำงานกับชุมชน ปรับบทบาท อว.เพิ่มจากสร้างคนไปสู่กระทรวงแห่งการพัฒนา โดยมีการทำงานลงพื้นที่อย่างแท้จริง เก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นองค์ความรู้นำไปสู่การพัฒนา ขณะที่การแข่งขัน แฮกกาธอนเป็นกิจกรรมสำคัญมาก มีการให้ความเห็น ระดมสมองของเยาวชน อาจารย์และประชาชน จากการลงพื้นที่จริง มีการนำเสนอไอเดียเพื่อนำมาพัฒนาชุมชน มีเกือบหนึ่งพันทีมเสนอไอเดียในการพัฒนา ผ่านการประกวดทั้งในระดับภูมิภาคจนถึงระดับชาติ ผลแพ้ชนะไม่สำคัญ ทุกคนชนะแล้วตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอยู่ในโครงการ ทุกคนคือส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงชุมชนที่เราอยู่ ประเทศที่เราอยู่ ขอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักศึกษา บัณฑิต และประชาชนในโครงการทุกคนภูมิใจกับตัวเอง ในการที่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อประเทศชาติ ขอบคุณคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหวัง มีอนาคต และอนาคตที่ว่าก็อยู่กับคนรุ่นใหม่ในวันนี้

สำหรับผลการแข่งขันมี 5 ทีมที่ชนะเลิศได้แชมป์ U2T National Hackathon 2021 ทีมแรก ได้แก่ ผลงาน “หัตถสานบ้านต้นตาล สุ่มปลายักษ์” จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นำเสนอการสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากฐานมรดกของชุมชนให้มีความสอดคล้องกับความปกติใหม่ ผ่านประเพณีชาติพันธุ์ไทย-ญวนชุมชนบ้านต้นตาล ศิลปะหัตถสานที่บ้านดินสอ เป็นต้น ทีมที่สอง ได้แก่ ผลงาน “Palm Packaging” ของ ม.ทักษิณ ที่นำเอาปาล์มน้ำมันที่เหลือทิ้งมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลาสติก ทีมที่สาม ได้แก่ ผลงาน “Nile Creek Rescue” จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่นำเสนอ การพัฒนาระบบเติมอากาศเพื่อแก้ปัญหาปลาน็อคน้ำ ทีมที่สี่ ได้แก่ ผลงาน “จิ๊หริด แบรนด์” จาก ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอการสร้างและฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดของชุมชนด้วยแนวคิดการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทีมที่ห้า ได้แก่ ผลงาน “ตำบลเจริญสุข” ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ นำเสนอการพัฒนาลายผ้าภูอัคนีให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้การประกาศชื่อแต่ละทีมที่ได้แชมป์ ทั้งทีมที่ได้แชมป์และกองเชียร์ต่างร้องเฮกันสนั่น และสวมกอดกันด้วยความดีใจ บางทีมถึงกับร้องไห้ นอกจากนั้น ยังมีการประกาศรางวัลขวัญใจมหาชน ที่มาจากการโหวตของผู้เข้าร่วมโครงการ U2T กว่า 3 หมื่นคน ได้แก่ทีมผการันดู จาก ม.ราชภัฎบุรีรัมย์ จากผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและการกระจายรายได้ใน ต.ลำดวน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อว.จะสนับสนุนต่อยอดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จริงและมีมาตรฐานดียิ่งขึ้น รวมทั้งการขยายช่องทางการตลาดด้วย