ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศความเสี่ยงต่ำที่ฉีดวัคซีนครบโด๊สแล้ว พร้อมมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนเดินทาง สามารถเดินทางมาประเทศไทยทางอากาศได้ โดยมีพื้นที่นำร่องที่จัดอยู่ในรูปแบบเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จำนวน 17 จังหวัด และมีคำเรียกใหม่ว่า “Blue Zone”

พื้นที่สีฟ้าที่ว่ารวมทั้งภูเก็ตและพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า สุราษฎร์ธานี ที่เปิดไปก่อนแล้ว อีก 15 จังหวัดที่เปิดตามมา บางแห่งเปิดทั้งจังหวัด บางแห่งเปิดแค่เพียงบางอำเภอ กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ เริ่มต้นที่เชียงใหม่ เฉพาะพื้นที่ อ.เมือง อ.ดอยเต่า อ.แม่ริม อ.แม่แตง สำหรับแม่ริมช่วงฤดูกาลที่ลมหนาวมาเยือนนี้ สวนดอกไม้ที่กำลังบานสะพรั่งและที่พักแบบอิงแอบแนบชิดธรรมชาติคือคำตอบ ขณะที่แม่แตงนั้น เรื่องราวของปางช้างที่ประสบปัญหามาตลอดช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 คือสิ่งแรกที่นึกถึง ส่วนดอยเต่าแน่นอนว่าจะต้องมีทะเลสาบดอยเต่าซึ่งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพลมาเป็นอับดับแรก

ภาคอีสานมี 4 จังหวัด ได้แก่ เลย เฉพาะ อ.เชียงคาน เจ้าของมนต์เสน่ห์ของบ้านไม้และวัฒนธรรมการตักบาตรข้าวเหนียว หนองคาย เฉพาะ อ.เมือง อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ กับวิถีชีวิตริมฝั่งโขงทั้งการทำประมง ปลูกใบยาสูบ และแหล่งผลิตแผ่นกระยอ หรือแผ่นแป้งห่อเปาะเปี๊ยะ อุดรธานี เฉพาะ อ.เมือง อ.บ้านดุง อ.กุมภวาปี อ.นายูง อ.หนองหาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

ลงมาที่ภาคตะวันออก ชลบุรี เฉพาะ อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ และ ต.บางเสร่ อ.นาจอมเทียน ระยองเฉพาะเกาะเสม็ด ตราดเฉพาะเกาะช้าง และสมุทรปราการ เฉพาะบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เลยต่อมาที่กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำเชื่อมโยงกับ ต.หัวหิน ต.หนองแก ประจวบคีรีขันธ์ ต่อไปที่ระนองเฉพาะเกาะพยาม พังงา และกระบี่

แม้จะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวแต่ยังคงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 อยู่ดังเดิม โดยเฉพาะมาตรการ Universal Prevention ที่ต้องเน้นย้ำ และ COVID Free Setting ทั้งยังคงปิดสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่น ๆ ในลักษณะคล้ายกัน รวมทั้งทำกิจกรรมรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 500 คน

จังหวัดนำร่องระยะที่ 1 ทั้งหมดเป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ก่อนจะตามมาด้วยระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1-31 ธันวาคม 2564 จะต้องเป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยจะต้องมีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีทั้งหมด 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 12 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล โดยจังหวัดที่อยู่ในระยะที่ 2 และ 3 อาจมีการพิจารณาปรับพื้นที่ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

หลักเกณฑ์พิจารณาการเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวแยกย่อยตั้งแต่ระดับจังหวัด โดยจะต้องเป็นจังหวัดที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้วอย่างน้อยร้อยละ 50 และกลุ่มเปราะบางร้อยละ 80 ขณะที่ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยต้องเพียงพออัตราการครองเตียงผู้ป่วยเหลืองแดงไม่เกินร้อยละ 80 มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน โดยอาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโน้มสถานการณ์เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังต้องมีความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีแผนการดำเนินการ แผนและทรัพยากรและทีมสอบสวนโรคพร้อมรับมือหากเกิดการระบาด มีระบบกำกับติดตาม และมีศูนย์บัญชาการ

เล็กลงมาที่ระดับอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน นอกจากจะต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 70 และกลุ่มเปราะบางร้อยละ 80 แล้ว จะต้องมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน โดยอาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโมสถานการณ์เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน

ส่วนความพร้อมด้านการบริหารจัดการ ต้องมีความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีแผนการดำเนินการ แผนและทรัพยากรและทีมสอบสวนโรคพร้อมรับมือหากเกิดการระบาด มีระบบกำกับติดตาม และเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการ

ในส่วนของสถานที่หรือพื้นที่ต่าง ๆ จะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 80 รวมทั้งมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ไม่พบผู้ติดเชื้อในกิจกรรม/กิจการในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ทั้งยังต้องมีระบบกำกับติดตามนักท่องเที่ยว มีผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานและกำกับติดตาม และเชื่อมโยงกับระบบของพื้นที่

แต่ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือชาวไทย สิ่งที่ยังต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ มาตรการ D-M-H-T-T-A เพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวปลอดจากโควิด-19 และกลับไปพร้อมกับความทางจำอันงดงาม

แนวทางเดินทางเข้าประเทศไทย

1. Test & Go นักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศไทย มาจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำที่กำหนด 46 ประเทศ ได้รับวัคซีนครบไม่น้อยกว่า 14 วัน ต้องเข้ามาในพื้นที่สีฟ้า 1 วัน เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากตรวจไม่พบเชื้อสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ

2. Living in The Blue Zone นักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศไทย มาจากกลุ่มประเทศอื่น ๆ ได้รับวัคซีนครบโด๊สตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด ต้องเข้ากักตัวในพื้นที่สีฟ้าพำนักอย่างน้อย 7 วัน หากตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 จะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศได้

3. Happy Quarantine นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศไทย เดินทางมาจากทุกประเทศ รับวัคซีนไม่ครบโด๊สตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนระบุ ต้องกักตัวนรูปแบบ Alternative Quarantine 14 วัน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากทุกประเทศ รับวัคซีนครบโด๊สแล้ว แต่เข้าในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ฟ้า ต้องกักตัว AQ 14 วัน

ยื่นเอกสารประกอบการเดินทางที่ https://tp.consular.go.th จากนั้นรอการตรวจสอบหลักฐาน หากครบถ้วนตามเงื่อนไขแต่ละประเภท ระบบจะยืนยันผลการอนุมัติพร้อมรับ Thailand Pass QR Code