สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่า การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ครั้งที่ 26 หรือ “คอป26” ที่เมืองกลาาสโกว์ ปิดฉากอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงรุ่งสางของวันอาทิตย์ หลังประชุมร่วมกันตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ สาระสำคัญของข้อตกลงกลาสโกว์ ที่มากกว่า 200 ประเทศและดินแดนลงนามร่วมกัน ยังคงรักษาความหวังให้กับทุกฝ่าย ในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ตามการให้สัตยาบันร่วมกัน ในข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558


ขณะเดียวกัน ข้อตกลงกลาสโกว์ยังเป็นข้อตกลงด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ ฉบับแรกของโลก ที่กล่าวถึง “การลด” การใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะมีการบรรลุข้อตกลงในประเด็นดังกล่าวได้ ต้องมีการต่อเวลาจนถึง “นาทีสุดท้าย” เนื่องจากอินเดียและจีน ร่วมด้วยอีกหลายประเทศที่ยังคงใข้พลังงานถ่านหินเป็นหลัก ยืนกรานคัดค้านการใช้ถ้อยคำ “ยุติการใช้ถ่านหิน” จนในที่สุดมีการลดระดับความแข็งกร้าวของถ้อยคำลงเหลือเพียง “ลดการใช้ถ่านหิน”


ท่าทีของอินเดียและจีนสร้างความผิดหวังให้กับหลายฝ่าย เนื่องจากการให้คำมั่นสัญญาเรื่องการบรรเทาความรุนแรงของสภาพอากาศโลกโดยนานาประเทศในเวลานี้ ยังคงทำให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 2.4 องศาเซลเซียส


นอกจากนี้ ประชาคมโลกยังคงไม่สามารถบรรลุเกณฑ์ 3 ข้อที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) นั่นคือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันให้ได้อีก 50% ภายในปี 2573 กลุ่มประเทศร่ำรวยลงขันมอบเงินช่วยเหลือเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมแก่กลุ่มประเทศยากจน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 3.27 ล้านล้านบาท ) และการต้องมีหลักประกันว่า เงินครึ่งหนึ่งจะไปถึงกลุ่มประเทศยากจนอย่างแท้จริง


สำหรับการประชุมครั้งต่อไป คือ “คอป27” จะเกิดขึ้นในปีหน้า ที่เมืองชาม-เอล-ชีค ในอียิปต์ ตามด้วย “คอป28” ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) ในปี 2566.

เครดิตภาพ : AP