สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ว่าบริษัทเมอร์คออกแถลงการณ์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา บรรลุข้อตกลงกับองค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วม (เอ็มพีพี) ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการอนุญาตให้กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ จำนวน 105 ประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกร่วมกัน ได้รับสิทธิบัตรในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19


ทั้งนี้ เมอร์คและพันธมิตร คือบริษัทริดจ์แบค ไบโอเทอราพิวติกส์ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ตามข้อตกลง และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใด จากประเทศที่ผ่านการคัดเลือกให้สามารถเข้าถึงสูตรยาโมลนูพิราเวียร์ ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ยังคงให้โรคโควิด-19 มีสถานะเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”


ปัจจุบัน คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติการใช้งานยาโมลนูพิราเวียร์ หากได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอ โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาสามัญแบบรับประทาน เพื่อรักษาโรคโควิด-19 โดยตรงรายการแรกที่มีการใช้งานในสหรัฐ เนื่องจากยาที่รับรองไปก่อนหน้านี้ล้วนเป็นแบบฉีดเข้าสู่กระแสเลือด


อนึ่ง เมอร์คและริดจ์แบคมีแผนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ 10 ล้านชุด ภายในสิ้นปีนี้ โดยหนึ่งในลูกค้าสำคัญรายแรกคือรัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สั่งซื้อแล้ว 1.7 ล้านชุด ในราคาชุดละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,289.35 บาท) พร้อมสิทธิในการซื้อเพิ่มเติมได้อีก 3.5 ล้านชุด โดยการรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ 1 ชุด ใช้ 40 เม็ด แบ่งรับประทานต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 8 เม็ด แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด.

เครดิตภาพ : REUTERS