เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ให้การต้อนรับ นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ เดินทางมาศึกษาสภาพปัญหาช้างป่า ออกหากินนอกพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ เพื่อศึกษาข้อมูลนำไปเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการเดินทางมาในครั้งนี้กำหนดลงพื้นที่ 2 วัน โดยในวันแรกเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ในท้องที่ อ.ปากช่อง และ อ.วังน้ำเขียว ผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกนอกพื้นที่ ตลอดจนเครือข่ายเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า มาเล่าถึงสภาพปัญหา สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้กับคณะกรรมาธิการได้รับทราบ
โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร ประกอบด้วย ข้าวโพด กล้วย หมาก อ้อย มะพร้าว ขนุน ตลอดจนทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่ โดยช้างป่าที่ออกมาสร้างความเสียหายในพื้นที่ จะมีขาประจำชื่อ ‘พลายแคระ’ ซึ่งจะชักชวนเพื่อนๆช้าง ออกมาจากป่าเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 ตัว โดยเฉพาะในพื้นที่เขาวง มีช้างบางตัวออกมาอยู่อาศัยแบบถาวรไม่กลับเข้าพื้นที่ป่า ในช่วงเวลากลางคืนจะออกมาหากินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และในเวลากลางวันจะอาศัยพื้นที่หย่อมป่านอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำหรับหลบพักอาศัยกลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ตามแนวทางนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ได้กำหนดไว้ โดยแผนในระยะสั้นเป็นการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า ให้กลับเข้าไปในพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ แผนการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง โดยการสร้างรั้วแบบถาวรและรั้วธรรมชาติ ในพื้นที่วิกฤติเพื่อป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยการจัดสร้างและปรับปรุงแหล่งอาหารของช้างป่า ในพื้นที่ใจกลางอุทยานฯให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ขอยืนยันว่าจากการที่ตนได้ออกลาดตะเวนป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ และการขึ้นสำรวจป่าโดยเฮลิคอปเตอร์ตามแผนบิน ร่วมกับเจ้าที่ของกองการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์มาก มีร่องรอยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ได้แก่ ช้าง และกระทิง กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ดังนั้น ช้างป่าและกระทิง ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณใจกลางของผืนป่าเขาใหญ่ จะไม่ออกไปหากินนอกพื้นที่อย่างเด็ดขาด จะพบก็แต่เพียงช้างป่าบางตัว ซึ่งถูกขับออกจากโขลงด้วยสาเหตุต่างๆ แล้วออกหากินไปไกลนอกเขตป่า ที่สร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และไม่ยอมกลับเข้าพื้นที่ป่าเท่านั้น โดยในวันนี้ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่าช้างป่าที่ออกมาสร้างปัญหาในขณะนี้ มีเพียงไม่กี่ตัว เจ้าหน้าที่และเครือข่ายพยายามช่วยกันผลักดันอย่างไร ก็ไม่ยอมกลับเข้าป่า เนื่องจากติดใจในรสชาติของพืชผลทางการเกษตร ช้างเหล่านี้จะต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ในทันที เพื่อตัดปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้าง ที่อาจจะลุกลามบานปลายได้ในอนาคต
“การเคลื่อนย้ายช้างป่า ที่ออกหากินนอกพื้นที่แบบถาวร จะได้นำเสนอต้นสังกัดกรมอุทยานฯ เพื่อพิจารณาร่วมกัน เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทั้งวิธีการเคลื่อนย้าย ตลอดจนพื้นที่รองรับช้างป่าที่เหมาะสม ซึ่งจะได้นำเสนอโดยเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้” นายอดิศักดิ์ กล่าว
หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังปัญหา และลงพื้นที่ดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรแล้ว อุทยานฯเขาใหญ่ ได้นำคณะฯไปเยี่ยมชมแหล่งอาหารสัตว์ป่าด้านบนอุทยานฯ พร้อมทั้งได้นำคณะทำกิจกรรมเสริมแร่ธาตุอาหารในโป่งเทียมที่จัดสร้างไว้ เพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ต่อไป