แต่บรรดาแนวร่วมฯ ยังฉวยโอกาสลอบก่อเหตุตอบโต้เป้าหมาย ทหาร-ตำรวจ-จนท.รัฐ พร้อมพยายามใช้สัญลักษณ์ ครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส (25 ต.ค. 47) มาปลุกปั่นแนวร่วมฯ ก่อเหตุ!!

ปัญหาแนวร่วมฯ ยังต่อสู้รุนแรง

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ปัจจุบันยังคงเป็น พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 และผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ทำหน้าที่กุมบังเหียนดูแลรับผิดชอบปัญหานั้น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีการปิดล้อมตรวจค้นที่ได้ผล สามารถบุกตะลุยเข้าไปยังพื้นที่หลบซ่อนของกลุ่มแนวร่วมติดอาวุธได้หลายแห่ง ทั้งใน จ.ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส ที่สำคัญการปิดล้อมช่วงหลัง แนวร่วมฯจะไม่ยอมให้จับกุมง่าย ๆ แม้จะพยายามหาผู้นำท้องถิ่นมาช่วยเจรจาก็ยังไม่ยอม จนทำให้เกิดการต่อสู้ปะทะปิดล้อมพื้นที่เกือบทุกครั้ง และจบด้วยการวิสามัญฯกลุ่มแนวร่วมติดอาวุธ จนเป็นที่น่าสังเกตในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือ แนวร่วมฯที่ถูกปิดล้อมตรวจค้นเพื่อจับกุม ไม่มีใครยอมให้จับเป็นแต่ยินยอมที่จะสู้ตาย มีบางเหตุการณ์ระหว่างปะทะกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แนวร่วมฯบางคนยังถือโอกาสความทันสมัยของเทคโนโลยียุคนี้ ใช้โทรศัพท์มือถือไลฟ์สด แสดงเจตนารมณ์ของการต่อสู้และกล่าวอำลาคนในขบวนการ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เพื่อหวังเผยแพร่คลิปของตัวเองให้กระจายไปในโซเชียลให้กลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้หลังจากญาติรับศพผู้ที่ถูกวิสามัญฯ กลับไปทำพิธีการทางศาสนานั้น ก็จะเริ่มเห็นว่ามีบางกลุ่มไม่อาบน้ำศพตามลักษณะของผู้เสียชีวิตทั่วไป โดยทำพิธีลักษณะเดียวกับนักรบผู้พลีชีพ ตามอุดมการณ์ให้กับมาตุภูมิและศาสนา แล้วจึงแห่ไปฝังสุสาน มีผู้คนเข้าร่วมพิธีโดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวและเยาวชนจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุการณ์ปิดล้อมตรวจค้นระยะหลังซึ่งมักจะเกิดการปะทะและวิสามัญฯ แม้ กอ.รมน.จะสามารถลดจำนวนแนวร่วมฯลงได้ แต่ปัญหาในอนาคตยังไม่จบง่าย ๆ เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีคนรุ่นใหม่ถูกชักจูงเข้าร่วมสู่ขบวนการอีกมากน้อยเพียงใด

สีหน้า แววตา คำพูดของผู้เข้าร่วมพิธีศพ และการกระทำ เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ค่อนข้างชัดเจน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้สึกหรือความคิดว่า ผู้ที่ถูกวิสามัญฯ เป็นคนร้ายมีหมายจับคดีฆ่าผู้อื่น วางระเบิด วางเพลิง เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ตามที่กฎหมายระบุไว้ จึงอาจเป็นความแตกต่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับภูมิภาคอื่น ๆ  ที่สำคัญคือสาเหตุของการที่ “ไฟใต้” ยังดำรงอยู่ นอกจากจะไม่มอดดับลงง่าย ๆ แล้ว ยังเหมือนเป็นการสุมไฟในใจกลุ่มแนวร่วมฯรุ่นใหม่ให้ลุกโชนอยู่ต่อไป ในเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันยังเป็นเช่นนี้จึงยังมองไม่เห็นอนาคตว่าไฟใต้จะดับอย่างไร

ดึงมวลชนจากเหตุการณ์ตากใบ

หากย้อนกลับไปดูช่วงปลายเดือน ก.ย.ถึงช่วงต้น ต.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากมีการเปิดยุทธการฮูแตยือลอ จากนั้นมีแนวร่วมฯ ตอบโต้ก่อเหตุเกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ ทั้งวางระเบิดรถยนต์ตำรวจ ระเบิดเสาไฟฟ้า มีทั้งระเบิดที่กู้ได้ทัน และตรวจพบซุกซ่อนไว้หลายจุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แนวร่วมฯได้วางแผนจะก่อเหตุร้ายในหลายพื้นที่พร้อม ๆ กัน เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งหมดที่สำคัญในวันที่ 25 ต.ค. ครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าโรงพักตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ผู้ชุมนุมมีจำนวนนับพันคน ทำให้กำลังทหารต้องออกมาช่วยควบคุมสถานการณ์ สลายการชุมนุมจับกุมขึ้นรถบรรทุกส่งไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี กระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมกับผู้ชุมนุมที่แออัดยัดเยียดอยู่ในรถบรรทุกต้องเดินทางไกลหลายชั่วโมงกว่าจะถึงสถานที่ควบคุม สุดท้ายมีผู้ชุมนุมต้องเสียชีวิตมากถึง 85 คน ทำให้แนวร่วมฯยังนำ เหตุการณ์ตากใบ 25 ต.ค. 47 มาใช้เป็นวันสัญลักษณ์ เพื่อตอกย้ำการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน

วันนี้สิ่งที่หลายฝ่ายวิตกกังวล คือ แนวร่วมบีอาร์เอ็น จะกลับลำด้วยการเอาคืนกับประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเหมือนกับในอดีตหรือไม่ เนื่องจากในอดีตตั้งแต่ปี 2547-2561 กลุ่มแนวร่วมฯได้ก่อเหตุความรุนแรงแบบไม่เลือกหน้า ผู้ตกเป็นเหยื่อนอกจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแล้ว ยังมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ หรือครู เป้าหมายในการถูกเอาคืนกลายเป็นทุกคนที่อยู่ตรงข้าม กระทั่งมาปี 2562  ที่เป้าหมายของแนวร่วมฯ มุ่งเน้นไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งยังเลิกปฏิบัติการในพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาด ศูนย์การค้า โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์กรสากล เจนีวาคอลล์ องค์กรที่เน้นการตรวจสอบและทำให้แน่ใจว่ากลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ภาครัฐ (Armed Non-State Actors หรือ ANSA) เข้ามามีบทบาท โดยจะเน้นการใช้เวทีในการเจรจาสันติภาพให้มากกว่าการก่อเหตุร้าย

พูดคุยสันติสุขเพื่อหาทางออก

แน่นอนการที่จะพึ่งพาในเรื่องของการเจรจาสันติสุข ระหว่าง คณะกรรมการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล กับ บีอาร์เอ็น ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ณ วันนี้กลไกของการพูดคุยยังไม่มีผลสำเร็จอันใดที่จะมั่นใจได้ว่าจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดลง ทั้งที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ หัวหน้าคณะพูดคุย ไล่ตั้งแต่ยุคของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในสมัยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มี พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เป็นเลขาธิการ สมช.คนปัจจุบัน

โดยสิ่งที่ยังเป็นเรื่องจำเป็นในการหาทางออกปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกแนวทางหนึ่ง คือ การพูดคุยเพื่อการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ปัจจุบันการพูดคุยกับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างภายในพื้นที่ก็ทำได้แค่การเปิดเวทีของคนหน้าเดิม หน้าเก่า แจกข้าวของ แจกอาหารแห้ง ในยามวิกฤติโควิด-19 ระบาดหนัก ซึ่งกลุ่มผู้ได้รับการดูแลก็ยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่เห็นต่าง เป็นงานของการสร้างสีสันบรรยากาศเพื่อร่วมด้วยช่วยกัน ในยามที่ทุกคนทุกข์ร้อน จากเรื่องของโรคระบาดจึงไม่ได้ส่งผลอันใดกับแนวร่วมฯในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่มีนโยบายอื่น ๆ แต่ใช้ยุทธวิธีกดดันปิดล้อม แต่กลุ่มแนวร่วมฯ ก็ไม่ยอมให้จับพร้อมยังสละชีวิตต่อสู้จนทำให้ถูกวิสามัญฯ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องน่าหนักใจไม่น้อย เพราะหลังเหตุวิสามัญฯตอนนี้กลุ่มแนวร่วมฯหันมาใช้ประโยชน์ด้วยการบิดเบือน จากประวัติคนร้ายที่ถูกวิสามัญฯส่วนใหญ่มีหมายจับติดตัวคนละหลายหมายแทบทั้งสิ้น ถูกยกย่องให้กลายเป็นนักรบ แถมไลฟ์สดผ่านโทรศัพท์มือถือเผยแพร่กันในกลุ่ม ดังนั้นถ้าเจ้าหน้าที่ยังไม่รีบหาทางปรับกลยุทธ์ เพื่อเข้าถึงมวลชนอธิบายให้เข้าใจเข้าถึงอย่างแท้จริง และปล่อยให้เป็นอย่างนี้ อีกไม่นานสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเปลี่ยนโฉม

ส่วนจะเปลี่ยนอย่างไรก็น่าติดตาม เพราะตอนนี้มีองค์กรจากต่างประเทศ  ที่เริ่มขยับเข้ามาปักหลักอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น องค์กรกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)  ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอนาคตภายภาคหน้า จะแปรเปลี่ยนไปในรูปแบบใด ในช่วงที่การพูดคุยสันติสุขได้เงียบหายไป!!.