เมื่อวันที่ 5 พ.ย.  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา “ฆาตกรที่มองไม่เห็น : คนไทยตายปีละเท่าไหร่จากควันบุหรี่มือสอง” โดยรศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาฯ กล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562) พบ 70% ได้รับควันบุหรี่มือสอง และพบว่า เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง 20,688 รายต่อปี โดยผู้หญิงได้รับควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน 68% ผู้ชายได้รับ 47% ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 57 ประเทศ พบหญิงไทยอายุ 15-49 ปีได้รับควันบุหรี่มือสองสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์จากวารสารมะเร็งของประเทศอังกฤษ (British Journal of Cancer) ปี 2567 ยืนยันว่าการสูดควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า ความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับ ขณะที่มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย

ด้าน ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ ในประเทศไทยพบเด็กอายุ 1- 5 ปี อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ 55% มากสุดคือกทม. 62% เพิ่มความเสี่ยงก่อโรคมากขึ้น มีงานวิจัยพบบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ พบเด็กในบ้านป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารพ.ถึง 67% ต้องนอนรพ.ถึง32% นอกจากนี้มีการนำเส้นผมของเด็กในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่มาตรวจพบว่ามีปริมาณสารนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษในบุหรี่สูงกว่าค่ามาตรฐาน

ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่การบังคับใช้ยังทำได้ไม่ดี โดยองค์การอนามัยโลกประเมินไทยได้คะแนนส่วนนี้อยู่ที่ 6 จากเต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันการห้ามสูบในที่สาธารณะ ส่งผลให้คนสูบในบ้านมากขึ้น ดังนั้นต้องรณรงค์เรื่องปลอดควันบุหรี่มือสองทั้งที่บ้าน และรถมากขึ้น ซึ่งตนกำลังพยายามผลักดันกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในรถเพราะมีพื้นที่แคบ มีความเสี่ยงมากกับผู้รับนิโคตินจากควันมือสอง ทั้งนิโคตินยังตกค้างอยู่ได้นาน ส่งผลไปถึงผู้รับมือสามด้วย ซึ่งหลายประเทศมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในรถแล้ว รวมถึงอาคารชุดที่พักอาศัย เช่นคอนโดมิเนียม  อีกสิ่งที่น่าห่วงจากการที่ตนได้พูดคุยกับหมอรพ.ตากสิน พบสาวท้องที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าคลอดลูกออกมาน้ำหนักน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ เนื่องจากนิโคตินส่งผลให้เส้นเลือดในรกหดตัว จึงทำให้เด็กได้รับสารอาหารและออกซิเจนน้อยลง เมื่อเด็กตัวเล็กน้ำหนักน้อยก็ทำให้เกิดโรคง่าย เป็นเรื่องน่าห่วงเพราะวัยรุ่นหญิงตอนนี้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น.