เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไหร่ ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องพิจารณา แต่ทางคณะกรรมการเดิมมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายก ฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ จะมีกระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงการคลัง  กระทรวงพลังงาน ตัวแทน กรมสนธิสัญญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะกรรมการชุดใหม่ก็ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณา แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียด ตนก็ยังไม่ทราบว่าการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่นี้จะเสนอให้ใครมาเป็น

เมื่อถามว่าจากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายก ฯ ที่กล่าวว่าหากยกเลิกMOU 44 จะเสียผลประโยชน์ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนต้องชี้แจงให้เข้าใจว่า MOU 44 ต้องย้อนกลับไปเมื่อตอนทำสนธิสัญญาไทยสยาม-ฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสได้ขอพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณไป และยกชายฝั่ง จ.ตราด และเกาะต่าง

ๆ ให้เรา เพราะฉะนั้นหากยึดตามสนธิสัญญาดังกล่าว เกาะกูดเป็นของประเทศไทยตั้งแต่ต้น ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง และทางประเทศกัมพูชาก็ไม่ได้มีการเคลมในเรื่องนี้ รวมถึงยอมรับในสนธิสัญญาดังกล่า อย่างไรก็ตามประเด็นที่มีการนำเกาะกูดมาพูดว่าจะยกให้กับต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความเป็นจริง และมันไม่เกี่ยวกับ MOU 44 เลย 

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย 100 เปอร์เซ็นต์ และนายกฯ ก็เคยประกาศว่า จะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป จะรักษาไว้เท่าชีวิต ตนขอยืนยันว่าขณะนี้มีทั้งหน่วยราชการต่าง ๆ อยู่ในตรงพื้นที่ รวมถึงกองทัพเรือที่ทำหน้าที่ดูเส้นขีดแดนต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ตนขอให้ยุติการพูดเรื่องนี้ เพราะเป็นการพูดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง 

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า MOU 44 เกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ซึ่งปี 2515 ประเทศกัมพูชาประกาศมาใกล้เขตแดนไทยและปี 2516 เราก็ประกาศไปใกล้เขตแดนกัมพูชา ดังนั้นจึงมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ และพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวก็เป็นเรื่องของ MOU ที่บอกว่าในโลกทั้งหมดไม่ว่าใครที่มีพื้นที่ทับซ้อนจะต้องเจรจา ดังนั้น MOU 44 จึงเป็นข้อตกลงที่ให้ไปเจรจากัน ว่าการแบ่งดินแดนในทะเลจะเป็นของใคร หากเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่สับสนแล้วมาตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้นไทย-กัมพูชา จึงต้องเจรจากัน เพราะหากไทยยกเลิกตรงนี้ก็เท่ากับว่าประเทศไทยไม่รักษาสิทธิในเขตแดน

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายก ฯ ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ยกเลิก MOU 44 เพราะมีแรงกดดันทั้งประเด็นปราสาทพระวิหาร และเรื่องชายแดนต่าง ๆ  ซึ่งรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ ได้แค่รับหลักการไปดูรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่า MOU 44 เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเจรจา และที่บอกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยกเลิกนั้นไม่จริง  จนเมื่อปี 2557 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายก ฯ ก็ดำเนินการต่อ โดยมี พล.อ.ประวิตร ไปเจรจาเรื่อง MOU 44 ดังนั้น มองว่าไม่ว่าส่วนใดหรือพรรคการเมืองใดพูดเรื่องนี้ควรกลับไปดูประวัติศาสตร์ และข้อตกลงระหว่างสยามฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นอย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หากถามนอกเหนือจากกรอบดังกล่าว คงจะต้องหาคำตอบกันเอง ตนจะไม่ตอบอีกแล้ว

เมื่อถามว่ากรณีที่กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐออกมาโจมตีเรื่องนี้ โดยที่ปี 2557 พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเจรจาเรื่องดังกล่าวนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า “กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปดูว่าหัวหน้าพรรคไปเจรจา MOU 44 ตามกรอบทั้งหมดเหมือนกัน ก็ไม่ต้องถามแล้ว ถ้าถามแบบนี้พรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง ว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา” นายภูมิธรรม กล่าว

เมื่อถามต่อว่าเป็นเพราะสายสัมพันธ์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก ฯ กับผู้นำกัมพูชาหรือไม่ ที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกมาโจมตีในรัฐบาล นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีประเด็นไหนก็ต้องไปถามเหตุผลเขา แต่ตนคิดว่าต้องยืนยันข้อเท็จจริงเท่านั้น และหากตอบไป ก็เหมือนเราไปขยายความขัดแย้ง เรื่อง MOU 44 เป็นเรื่องระหว่างประเทศไม่ใช่ความขัดแย้งภายใน ต้นขอให้สื่อมันชนหาเข้าใจประเด็นแล้ว และหากมีประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นมาอีกก็ไม่ต้องไปให้ความสนใจเพราะคิดว่ามันสนใจประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงดีกว่า 

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า วันนี้ต้องไปดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย วันนี้ก็ต้องไปดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย เป็นเพียงแค่เปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องมีการเปลี่ยนคณะกรรมการ และกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องทำการดำเนินการ ซึ่งก็ยังไม่มีการดำเนินการ

เมื่อถามอีกว่าหลักการเจรจาแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเล รัฐบาลนี้จะแบ่งเท่ากันหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่าอย่าเพิ่งไปคุยตรงนั้นเลย เพราะมันยังไม่เกิดถึงเวลาเราใช้กฎหมายทางทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นตัวดำเนินการ ตามที่สากลนิยมกัน ซึ่งจะเป็นอย่างไรตนก็ยังไม่เห็น และรัฐบาลชุดนี้ก็เพิ่งเข้ามาทำงาน.