เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ไม่ใช่เป็นการให้สัญชาติคนต่างด้าว แต่เป็นการเร่งรัดกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมที่รัฐดำเนินการให้ล่าช้า โดยมีกำหนดให้มหาดไทยออกกฎกระทรวงรองรับใน 60 วัน จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในการเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้เสนอ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 483,626 คน
ซึ่งต่อมานำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อห่วงกังวลของบุคคลจำนวนหนึ่ง ที่เป็นห่วงว่าจะเป็นการให้สัญชาติไทยแก่คนต่างด้าวและผู้อพยพลี้ภัยถึงห้าแสนคน และเป็นปัจจัยให้กลุ่มคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายต่างๆ ใช้โอกาสในการสวมมีสัญชาติไทย ทั้งเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเห็นว่าการที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้สัญชาติไทยแก่คนจำนวนมากโดยง่ายดายและไม่มีการตรวจสอบเช่นนี้ จะทำให้ประเทศชาติเสียความมั่นคง เฉพาะคนไทยดั้งเดิมรัฐบาลก็ไม่สามารถดูแลและจัดสวัสดิการได้ทั่วถึงเพียงพออยู่แล้ว กลับต้องมาแบกภาระดูแลคนต่างด้าวให้ได้รับสิทธิในสัญชาติเช่นเดียวกับคนไทย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อดูรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีพบว่า ไม่ได้เป็นการให้สัญชาติไทยกับคนต่างด้าวผู้ใดหรือกลุ่มใด กลุ่มเป้าหมายที่มีเป็นคนชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์เดิมที่มีสิทธิอยู่แล้ว โดยรัฐมีฐานข้อมูลคนเหล่านี้ออกบัตรมีเลขประจำตัว 13 หลักยืนยันตัวบุคคล และรัฐมีนโยบายให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรหรือให้สัญชาติไปเนิ่นนานเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่การดำเนินการยังเสร็จสิ้น กลายเป็นกลุ่มตกค้าง จึงมีการออกหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น หากดูกลุ่มคนเหล่านี้บางคนหรือบางกลุ่มได้ยื่นเรื่องขอลงรายการสัญชาติไทย เนื่องจากมีคุณสมบัติมีสัญชาติไทย แต่เจ้าหน้าที่ทะเบียนต่างๆดำเนินการอย่างล่าช้ามาก บางกรณีกว่า 20 ปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ บางคนหรือบางกลุ่ม เช่น คนไทยพลัดถิ่นที่แม่สอดและแม่ระมาดหลายร้อยคนฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลและรักษาการในการใช้กฎหมายสัญชาติ ในการดำเนินการล่าช้า ผลออกมาศาลปกครองจะตัดสินว่าเจ้าที่ดำเนินงานล่าช้าเกินสมควร ให้เร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ซึ่งหลังจากศาลตัดสินภายใน 45 วันคนไทยพลัดถิ่นทุกคนก็ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย แม้จะแพ้ในศาลปกครองทุกครั้งและกระทรวงมหาดไทยจะพยายามเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องงานทะเบียนและบัตร แต่ก็ยังล่าช้า เมื่อตรวจสอบก็พบว่าคั่งค้างอยู่นับแสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเร่งรัดกระบวนการให้บุคคลเหล่านี้ได้รับสิทธิและเอกสารยืนยันตัวบุคคลตามที่เป็นจริง
ด้วย กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เป็นบุคคลที่รัฐเคยสำรวจจัดทำเอกสารประจำตัวเป็นบัตรชนกลุ่มน้อยให้ เมื่อราว 50 ปีก่อน จนถึงปี 2542 และไม่มีการจัดทำบัตรให้แก่ใครเพิ่มเติมอีก ต่อมาพบว่ามีคนตกหล่นจากการสำรวจครั้งก่อนๆจึงจัดทำเพิ่มเติมในปี 2548 – 2554 คนเหล่านี้สะสมมาเกือบ 40 ปี มีจำนวนรวมแล้ว 340,101 คน ซึ่งรัฐได้มีนโยบายให้ถิ่นที่อยู่ถาวรมาเนิ่นนานแล้ว แต่ยังตกค้างอยู่ในรายการถึงปัจจุบัน รวมถึงบุตรของคนกลุ่มนี้ที่เกิดในประเทศไทยซึ่งรัฐมีนโยบายให้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนมีจำนวนอีก 143,525 คน คนทั้ง 483,626 คนนี้ต้องได้รับการลงรายการสัญชาติไทยหรือถิ่นที่อยู่ถาวร แต่ก็ตกค้างมานับสิบปีจนปัจจุบัน ทั้งที่คนไทยเมื่อไปแจ้งเกิดให้ลูก ก็สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในไม่กี่นาที จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับปรุงกระบวนการทางทะเบียนให้คนกลุ่มนี้ได้รับการลงรายการตามที่กำหนดในกฎหมายที่รวดเร็วขึ้น เพราะว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนไปมาก ข้อมูลทั้งหลายอยู่ในบัตรประจำตัวทั้งหมด สามารถเข้าดูและตรวจสอบได้ด้วยระบบออนไลน์ทั่วประเทศ รัฐเองมีนโยบายชัดเจนที่จะใช้เพียงบัตรประจำตัวอย่างเดียวก็สามารถติดต่อใช้บริการในทุกเรื่องได้ คนเหล่านี้มีฐานข้อมูลและรายพิมพ์นิ้วมือที่ชัดเจนต่อเนื่องในระบบอยู่แล้ว สามารถยืนยันตัวบุคคลและไม่สามารถสวมตัวได้ ดังนั้นในหลักเกณฑ์เร่งรัดตามมติคณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เสร็จสิ้นใน 1-5 วัน
นายสุรพงษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้ว แต่กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ที่จะลงรายละเอียดตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีมีมติ โดยออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร และอธิบดีกรมการปกครองจะมีหนังสือสั่งการให้นายทะเบียนทั้งหมดดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยต่อไป ประกาศกระทรวงมหาดไทยจะออกมาภายในที่กฎหมายกำหนดคือ 60 วัน ดังนั้นในช่วงสิ้นปีนี้จะมีของขวัญปีใหม่ให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมาเนิ่นนาน
โดยเฉพาะ ในช่วงนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงกับประชาชนและสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงที่ผิดพลาด ทั้งคนไทยที่คิดว่าเป็นการให้สัญชาติคนต่างด้าว และคนต่างด้าวที่คิดว่าตนจะได้รับสัญชาติไทยจากมติคณะรัฐมนตรีนี้ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ายังไม่มีการดำเนินการใดใดในช่วงนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถมาใช้สิทธิได้ด้วยตนเองเมื่อมีประกาศและหนังสือสั่งการให้ปฏิบัติ เนื่องจากพบว่ามีบางคนบางกลุ่มใช้เป็นช่องทางให้มีการแสวงและเรียกรับผลประโยชน์และบิดเบือนมติคณะรัฐมนตรีโดยมิชอบ นาย สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย.