จากกรณี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการ หลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากกว่าร้อยวัน เหลือเพียง 5 วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อยู่อาศัยในไทยมานานรอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัญชาติ ห่วงหนังสือรับรองตนเอง จนท.รัฐต้องยึดหลัก “อำนาจผูกพัน”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายมานะ งามเนตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและสัญชาติ ถึงกรณีที่ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการเสนอหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย โดยสามารถสรุปเนื้อหาดังกล่าวได้ว่า สามารถแบ่งบุคคลเป้าหมาย ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ1. กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (อาศัยมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522) และ 2. กลุ่มการขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 (อาศัยมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535)
นายมานะ ได้แสดงความเป็นห่วงกังวลต่อมาตรการการบริหารจัดการข้อมูลรายการบุคคลที่มีอยู่ในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร ที่ยังไม่ถูกจำหน่าย หรือกรณีที่จำหน่ายยกกลุ่ม โดยที่อาจจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เท่ากับเป็นการจำหน่ายโดยมิชอบ เหมือนที่ชาวบ้านอำเภอแม่อายหลายพันคนถูกกระทำมาแล้ว หรือการที่ไม่แสดงตนเพื่อเปลี่ยนบัตรประจำตัวแบบกระดาษแปะภาพถ่าย เป็นแบบบัตรพลาสติก ใน พ.ศ. 2551 แล้วออกคำสั่งด้วยโปรแรกมคอมพิวเตอร์จำหน่ายทุกรายที่ไม่แสดงตัวขอมีบัตร น่าจะมีจำนวนหลายแสนคนทั่วประเทศ ทำให้ขาดโอกาส และการขอคืนสถานะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเป้นภาระของบุคลากรในสำนักทะเบียนที่มีงานอื่นถาถมมากมาย ผู้ถูกจำหน่าย ก็ต้องการคืนสถานะเดิม และที่สำคัญ ระบบไม่จบที่สำนักทะเบียน แม้จะมีหนังสือสั่งการไว้ชัดเจนแล้ว แต่ยังต้องส่งเรื่องให้สำนักทะเบียนกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อน สำนักทะเบียนเจ้าของเรื่องจึงจะดำเนินการได้ กรณีนี้ สามรถตรวจสอบคำร้อง จากทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศได้ ว่ามีจำนวนเท่าใดที่ส่งเรื่องให้สำนักทะเบียนการพิจารณา ซึ่งใช้เวลา ส่งเรื่องกลับไปกลับมา แต่ละรายใช้เวลานานมาก กรณีนี้ จะแก้ไขอย่างไร
นายมานะ กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับบ้าน ทะเบียนบ้านเลขที่สมมุติ คือ เลขที่ 0/89 ควรยกเลิก เพราะเป็นกรณีเร่งด่วนในการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2548 – 2554 ทั้ง ๆ ที่บุคคลที่ผ่านการสำรวจ และไปรับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีบ้านอาศัยอยู่จริง หรือเป็นสถานศึกษา ซึ่งมีทะเบียนบ้าน(ท.ร.14) เล่มปกสีน้ำเงิน หรือ เล่มปกสีเหลือง(ท.ร.13) ที่ใช้เลขที่บ้านเดียวกับ ท.ร.14 แต่รายการบุคคลในบ้านที่อาศัยอยู่กลับไปมีชื่อรวม อยู่ในทะเบียนประวัติกลาง คือ บ้านเลขที่ 0/89 ที่ยังใช้มาถึงปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านมาถึง พ.ศ. 2567 เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วก็ตาม อีกประเด็นสำหรับเรื่องทะเบียนบ้าน คือ เมื่อมีกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ที่แก้ไขฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562 บัญญัติให้บ้านทุกหลังที่มีคนอาศัยอยู่ประจำ สามารถขอให้นายทะเบียนกำหนดบ้านเลขที่ และออกทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนประวัติให้
นายมานะ กล่าวว่า ส่วนอาคารที่ไม่มีคนอาศัยอยู่เป็นประจำให้นายทะเบียนกำหนดเป็นทะเบียนอาคาร แต่ความจริง บุคคลที่มีเลข 13 หลักทั้ง 0-????-89 และ 0-????-00 ที่มีบ้านอาศัยอยู่จริง ยังไม่สามารถแจ้งย้ายที่อยู่ทางทะเบียนไปใช้ทะเบียนประวัติที่เป็นบ้านเลขที่ ตามความจริงที่อาศัยอยู่ได้ และมีกรณีต่อเนื่อง เมื่อบุคคลรุ่นบุตรที่ได้รับการอนุญาตให้มี/ได้สัญชาติไทย หรือเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวร ตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาล ต้องไปหาเจ้าบ้านที่จะรับบุคคลทั้งสองกลุ่มที่เปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชนเป็นชุดใหม่ คือ 8-????-?????-??-? ที่ต้องมีทะเบียนบ้าน(ท.ร.14) เล่มปกสีน้ำเงิน สำหรับเพิ่มชื่อ และรายการบุคคล ในเมื่อบ้านที่อาศัยอยู่ของตนที่แท้จริงไม่สามารถขอบ้านเลขที่ได้ เจ้าบ้านหลังที่ยินยอมให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน(ท.ร.14) เล่มปกสีน้ำเงิน จะให้เข้าไปมีชื่อฟรี ๆ หรือ ปัญหานี้ จะแก้ไขอย่างไร
นายมานะ กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุด คือ จะมีการจัดรูปแบบ จัดระบบการจัดการเช่นไรกับการรับคำร้อง จะจัดการที่มีประสิทธิภาพแบบใด หมู่บ้านใด ตำบลไหน บุคคลใดที่มีพยานหลักฐานพร้อม ครบถ้วนตามที่กำหนดจะสามารถยื่นเรื่องได้ ด้วยวิธีการแบบเดิม จัดลำดับก่อนหลัง หรือควรจะเป็นอีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ จากหลักการการยื่นเรื่องตามร่างที่จะปรับปรุงใหม่ ควรจะใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดระบบคิวการรับบริการ ลดภาระในการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ตามแบบที่จะมีในอนาคตด้วยผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ผ่านโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่นที่จะมีการคิด หรือกำหนดที่มีระบบป้องกันการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ แต่ให้เข้าถึงได้เฉพาะส่วนที่เป็นการกรอกข้อมูล แนบเอกสารที่กำหนดตามกฎหมาย จัดระบบสมองกลอัจฉริยะ(AI) เข้ามาช่วยคัดกรอง แทนบุคลากรทางทะเบียนที่มีจกัด และด้วยปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายที่เปิดกว้างระยเวลาที่กำหนดเพียง 5 วัน จะทำอย่างไรทัน เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีอยู่พร้อมเพรียง เพียงพอที่จะรองรับการให้บริการในอนาคตเพียงใด
นายมานะ กล่าวว่า เหล่านี้ คือ เรื่องที่ประมวลมาจากวิธีการเดิมที่ติดขัด โดยเฉพาะสำนักทะเบียนที่มีอัตราผู้รับบริการจำนวนมาก มีปริมาณผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายครบถ้วน แต่รอคัวไปอีก 5 ปีข้างหน้าจึงจะถึงคิวยื่นคำร้อง ที่พยานบุคคลที่นำเสนอไว้ อาจจะเสียชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถให้ปากคำได้ จะแก้ไขอย่างไร จะมีองค์กรที่มีประสบการณ์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เข้ามาช่วยเตรียมพยานหลักฐาน ซึ่งอาจจะมีทั้งที่เป็นจิตอาสา หรือมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับเนื้องาน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติ ดังเช่น การตรวจ ต.ร.อ. หรือการที่มีการสอบขอใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ ที่ใช้วิธีการให้ภาคเอกชนเป็นผู้จัดการฝึกอบรม แล้วมีการดำเนินการผ่านหน่วยจัดฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน นำข้อมูลต่างๆ รวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงการมีความเห็นทางกฎหมายที่ครบถ้วน ก่อนการรับคำร้อง ก็เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งองค์กร เจ้าของกรณี จะได้เห็นชัดไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่ดังเช่นในอดีตที่กล่าวว่า “ไม่ทราบ พ่อหลวงดำเนินการให้ จ่ายค่าบำรุงหมู่บ้าน(หรือจ่ายเงินให้…ใคร)ไปแล้ว” รอเพียงวันโทรศัพท์เรียกไปทำบัตร ซึ่งอาจจะต้องจ่ายเพิ่มอีกครั้ง ในอัตราที่เคยพบ คือ 5,000 บาทแล้วยังไม่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนทันที ปลัดอำเภอถ่ายสำเนาบัตร ฯ ให้ถือไปก่อน ขอเก็บบัตรไว้รอจัดพิธีมอบบัตรฯ พร้อมกันก่อนก็มี แบบนี้ จะแก้ไขอย่างไร
นายมานะ กล่าวว่า และประเด็นสุดท้าย มาถึงผู้ที่จะรับภาระในการพิจารณา ฉากทัศน์ที่มอง ขอเพ่งไปที่นายอำเภอทั่วประเทศ แต่ละอำเภอในต่างจังหวัด ตนมองว่า นายอำเภอที่ดำรงตำแหน่งอยู่ทั่วประเทศนั้น กรมการปกครองจะสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจให้กับนายอำเภอ ว่าที่นายอำเภอ ปลัดอำเภออาจจะต้องทุกคน ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องทะเบียน ใครจะมาดำรงตำแหน่ง ได้รับมอบหมายภารกิจนี้ จะต้องมีทัศนคติการให้บริการที่มีคุณธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ก่อให้เกิดความสับสน ต้องมีองค์ความรู้ในหลักการใหม่นี้อย่างครบวงจร จะมีระบบที่จัดการอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง การทำงานการกำหนดสถานะบุคคลตนมองว่า ต้องปลอดการทุจริต ต้องมีความมั่นใจในข้อมูลที่มี ต้องเข้าใจกฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่ใช้ในการกำหนดสถานะบุคคล และนโยบายของรัฐบาลอย่างถ่องแท้ กระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงกรมการปกครอง จะต้องวางแผน การจัดการ กับระบบที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด แล้วเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง จะเป็นผลดีต่อสังคมที่เห็นว่า บุคคลที่อพยพเข้ามาจากนอกประเทศ รวมถึงบุตรที่เกิดในไทย ซึ่งผ่านการพิจารณาตามกระบวนการที่ชอบด้วยวิธีการที่กำหนดแล้ว เป็นผู้อยู่ร่วมกันกับบุคคลสัญชาติไทยทั่วไป ไร้การแบ่งแยก ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงในมิติต่าง ๆ ในทุกวงการ ลดอคติที่มีต่อกันด้วยความเข้าใจอันดี ไม่ดีกว่าหรือ