น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “อัตลักษณ์เมืองใต้ หนังตะลุงโนรา” วันที่ 27 มิ.ย.-1 ก.ค. 2567 ที่ จ.สงขลา ภาคเหนือ มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “ร่วมใจเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” วันที่ 16-20 ส.ค. 2567 ที่ จ.พิษณุโลก มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก “ศาสตร์ศิลป์ตระการตา เลอค่ามรดกวัฒนธรรม” วันที่ 22-26 ส.ค. 2567 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “เศรษฐกิจวัฒนธรรมอีสานสร้างสรรค์” วันที่ 5-9 ก.ย. 2567 ที่ จ.นครราชสีมา นั้น

รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยทั้ง 4 ภาค มีกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่ พิธีถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคโดยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินร่วมสมัย เด็กและเยาวชน นิทรรศการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่นและการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม การเปิดพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดเสวนาวิชาการถ่ายทอดความรู้ด้านประวัติศาสตร์และเรียนรู้คุณค่าของมรดกทางศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการจำหน่ายอาหาร ขนม สินค้าและผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) จากทั่วประเทศ

“วธ.ได้สรุปผลการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยทั้ง 4 ภาค ทำให้เกิดการจ้างงานแก่ศิลปิน ผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมและเครือข่ายวัฒนธรรม ส่งผลให้มีการสร้างงานสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและงานบริการทางวัฒนธรรม และมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดกว่า 380,000 คน สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 245 ล้านบาท ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย เพิ่มบทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่นให้เป็นที่รับรู้ นำทุนทางวัฒนธรรมไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ เสริมฐานรากวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วย” น.ส.สุดาวรรณ กล่าว