นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างโดนัล ทรัมป์ และ กัมลา แฮร์ริส ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร นโยบายของทั้งสองแม้มีความแตกต่าง ทั้ง 2 พรรค ต่างมองจีนเป็นคู่แข่งและศัตรูหมายเลข 1
อย่างในก็ตามในช่วงโค้งสุดท้ายผลสำรวจความคิดเห็นในรัฐสมรภูมิก็ยังพบ คะแนนของผู้สมัครทั้งสองยังสูสีกินกันไม่ลง ซึ่งรัฐตัวแปรคือ เพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐ Swing State ซึ่งอาจเปลี่ยนขั้วในการเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าใครจะคว้าชัยก็ย่อมส่งผลไปทั่วโลกรวมถึงไทย
โดยผลที่จะเกิดกับประเทศไทย มองว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างโจ ไบเดน (ซึ่งมีคามาลา แฮร์ริส เป็นแคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต)และทรัมป์คือเรื่องสงครามการค้า (เทรดวอร์) และภูมิรัฐศาสตร์ (การเมืองระหว่างประเทศ) ต่อไป ดังนั้นไทยจะได้อานิสงส์มาตรการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐที่มีต่อจีนในบางอุตสาหกรรม ส่งผลให้จะมีการย้ายฐานการผลิตมายังไทย โดยสินค้าจากจีนจะถูกตั้งกำแพงสูงขึ้น และอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐจะซื้อสินค้าจากจีนน้อยลง หันมาซื้อสินค้าจากประเทศอื่นรวมถึงสินค้าที่ผลิตจากไทยแทน
ทั้งนี้จะเห็นว่า โจ ไบเดนได้ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์อีวี ที่นำเข้าจากจีนจากเดิม 25% เป็น 100% และจะมีการเรียกเก็บภาษีที่ผ่านมาในเดือนพ.ค. 18,000 ล้านเหรียญในอุตสาหกรรมนำเข้าจากจีนโดยเฉพาะพลังงานสะอาด แผงโซล่า ขณะที่นโยบาย โดนัล ทรัมป์ จะมีความรุนแรงขึ้นกว่า คือจะมีการขึ้นภาษีจากทุกประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ อย่างน้อย 10- 20% แต่จะเพิ่มกำแพงภาษีจีน 60-100% ส่วนเรื่องการกีดกันด้านเทคโนโลยี ทรัมป์จะมีความรุนแรงกว่าโจ ไบเดน ซึ่งหาก แฮร์ริส ได้รับชัยชนะก็จะดำเนินการเหมือนเดิมเช่นการออกกฏหมาย “CHIPS and Science Act” นั่นคือ การไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงหรือขายเทคโนโลยีเหล่านี้ไปยังประเทศที่ไม่เป็นมิตร
“หมายถึงจีนจะเห็นว่ามาตรการนี้เข้มข้น เนื่องจากสหรัฐเกรงว่า จีนจะได้ชิปที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง หรือจะมีการขอความร่วมมือจากพันธมิตรอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัท ASML ผู้ผลิตเครื่องผลิตชิปรายเดียวของโลก ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ก็คือประเทศจีน เพราะอาจจะกังวลว่าจีนจะผลิตชิปชั้นสูงแข่งกับสหรัฐ เช่นเดียวกับ ทรัมป์ ที่บอกว่า จะไม่ให้จีนลงทุนในเทคโนโลยี สาธารณูปโภค รวมถึงด้านพลังงาน”
ส่วนมิติปัญหาเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม ทั้ง 2 พรรค มีความแตกต่างกัน โดย แฮร์ริสและไบเดนยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อลดโลกร้อน และสนับสนุนพลังงานสีเดียว แต่ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก
“ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์ เพียงแต่หากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ประเทศไทยจะต้องมีลอบบี้ยิสต์ ในการเจราและวางนโยบายที่ชัดเจน เพราะหากเป็นทรัมป์จะเป็นลักษณะ “หมูไปไก่มา” แต่หากเป็นกมลา แฮริส ก็จะยังดำเนินการเหมือนทุกวันนี้ที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นเรายังมีโอกาสที่จะได้เปรียบทางด้านการค้า”