รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณขยะมูลฝอย 17,873 ตันต่อวัน ภาคใต้ 9,705 ตันต่อวัน ภาคตะวันออก 7,073 ตันต่อวัน ภาคเหนือ 4,582 ตันต่อวัน และภาคตะวันตก 3,268 ตันต่อวัน ซึ่งยังไม่นับรวมขยะที่มีปริมาณตกค้างในแต่ละปีที่มีจำนวนนับหมื่นตันต่อปี หากจังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร มีปริมาณขยะ 12,748 ตันต่อวัน
2. จ.สมุทรปราการ มีปริมาณขยะ 3,465 ตันต่อวัน 3. จ.ชลบุรีมีปริมาณขยะ 3,374 ตันต่อวัน 4. จ.นครราชสีมา มีปริมาณขยะ 2,588 ตันต่อวัน 5. จ.นนทบุรี มีปริมาณขยะ 2,065 ตันต่อวัน

ส่วนใหญ่เป็นขยะเศษอาหารมากกว่า 50% ปัญหาใหญ่ คือ การทิ้งขยะรวมกัน โดยไม่แยกขยะก่อนนั้น ทำให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ เป็นปัญหารบกวนสุขภาพกายใจของผู้คนสัญจรไป-มาและผู้อยู่อาศัยได้อีกด้วย

ที่ผ่านมาผลเสียจากการไม่แยกขยะในกทม. พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้งบประมาณในการบริหารจัดการขยะต้องใช้เงินมากถึง 7,000 ล้านบาทต่อปีที่ต้องทุ่มงบประมาณลงมา แทนที่จะนำเงินไปพัฒนาในด้านอื่น ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการพัฒนาเมืองกทม. จึงเป็นที่มาของการประกาศขึ้นค่าเก็บขยะล่าสุดของกทม.พุ่งขึ้นกว่า 3–4 เท่า หรือกว่า  300-400% ทีเดียว เช่น จาก 20 บาท กลายเป็น 60 บาท จาก 2,000 บาท กลายเป็น 8,000 บาท ซึ่งจะประกาศใช้ภายใน 180 วันหลังจากนี้ เนื่องจากราคาเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 46 เท่ากับว่า ใช้ของเดิมมาเกิน 20 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

แต่เรื่องนี้ กทม.รู้ดีว่า เป็นเรื่องใหญ่ ที่กระทบกระเทือนคนในกทม.อย่างแน่นอน!!! จึงต้องเปิดทางเลือกให้กับบ้านไหน ครัวเรือนไหน ร่วมมือกันแยกขยะ ไม่ต้องทำให้กทม. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเยอะ ก็จะได้รับการยกเว้นจ่ายเท่าเดิม ส่วนบ้านไหน ธุรกิจแบบไหน จะจ่ายใหม่ จ่ายเดิม เป็นอย่างไร ทาง “พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจง ก่อนที่จะมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องต่อไป

“พรพรหม” ขยายความให้เห็นภาพชัดเจนว่า มาตรการนี้นับว่าเป็น game changer ที่สำคัญในมิติของการส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนแยกขยะ ที่ผ่านมาเราทำได้แค่ “ส่งเสริม” “ขอความร่วมมือ” “สมัครใจ” ซึ่งก็ดีแต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่พอ ถ้าคนทำดีก็ดีไป แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่สนใจ เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไปตามเดิม มาตรการนี้เป็นครั้งแรกที่จะมีการใช้ “กลไกทางเศรษฐศาสตร์” เข้ามาช่วยในการส่งเสริมให้ประชาชนมีการแยกขยะ เป็นแรงจูงใจให้คนอยากแยกเพราะเนื่องจากประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ส่วนถ้าไม่แยกก็จ่ายอัตราเต็มไป ซึ่งหลายเมืองทั่วโลกมีการใช้กลไกค่าเก็บขยะเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนแยกขยะ  เช่น การลดหย่อนอัตราค่าเก็บสำหรับบ้านที่แยกขยะ จะประสบความสำเร็จอย่างมาก

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ จะมีข้อสงสัยเยอะเป็นปกติ “พรพรหม” ได้สรุป  3 ประเด็นที่ได้รับการสอบถามมากที่สุด

ประเด็นแรก จะเพิ่มอัตราเป็นเท่าไหร่? สำหรับใครบ้าง? ต้องตอบว่า เราจะเพิ่มอัตราการเก็บ 3-4 เท่าจากปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะของท่าน  พูดให้เห็นภาพ คือ กลุ่ม 1 ในกรณีที่บ้านท่านมีขยะไม่เกิน 20 ลิตร (4 กก.) ต่อวัน จะอยู่ “กลุ่ม 1” ซึ่งครัวเรือนส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มนี้ มีอยู่เกิน 2 ล้านครัวเรือน ที่ผ่านมาจ่ายอยู่ 20 บาทต่อเดือน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาทต่อเดือน หรือ 3 เท่า เป็นการจ่ายแบบ “flat rate” แปลว่า ไม่ว่าจะมีขยะ 1 ลิตรต่อวัน หรือ 20 ลิตรต่อวัน ก็จะจ่ายเท่ากันที่ 60 บาท

แต่ข้อพิเศษของข้อบัญญัติฉบับนี้ สำหรับบ้านที่แยกขยะ ซึ่งกทม. จะเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อลดหย่อนค่าธรรมเนียมกลับมาเป็น 20 บาทได้  กลุ่ม 2 สำหรับผู้ที่มีขยะเกิน 20 ลิตร หรือ 4 กก.ต่อวัน แต่ไม่เกิน 1,000 ลิตร (200 กก.) ส่วนใหญ่จะเป็นห้องแถว ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ จะต้องจ่ายเป็น “อัตราก้าวหน้า” หรือจ่ายต่อหน่วย (หน่วยละ 20 ลิตร) จะต่างจากแบบ “flat rate” เหมือนกลุ่มที่ 1 ที่ผ่านมาจ่ายหน่วยละ 40 บาท และเราจะเพิ่มเป็นหน่วยละ 120 บาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า

เช่น ถ้าเป็นร้านอาหารมีขยะ 100 ลิตรต่อวัน จะเท่ากับว่าท่านจะต้องจ่าย 5 หน่วย แปลว่า ที่ผ่านมาจ่าย 200 บาทต่อเดือน (5 × 40) แต่ในอัตราใหม่ จะต้องจ่าย 600 บาท  (5 × 120)

 ถ้าต้องการที่จะลดค่าธรรมเนียม สามารถทำได้ถ้ามีการแยกขยะไปใช้ประโยชน์ จะทำให้ลดปริมาณขยะที่จะทิ้งให้กับกทม. เช่น ถ้าขยะลดลงจาก 100 ลิตรต่อวัน เป็น 60 ลิตรต่อวัน จะเท่ากับหน่วยขยะลดลงจาก 5 หน่วยเป็น 3 หน่วย ซึ่งในอัตราใหม่ จะลดลงจาก 600 บาทต่อเดือน เป็น 360 บาทต่อเดือน

กลุ่ม 3 ผู้ที่มีขยะเกิน 1,000 ลิตร (200 กก.) หรือ 1 ลูกบาศก์เมตร  เป็นสถานประกอบการต่างๆ เช่น ห้าง ตลาด สำนักงาน โรงแรม จะอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นการจ่ายแบบ “อัตราก้าวหน้า” เหมือนกลุ่ม 2 โดยจะคิดเป็น หน่วยละ 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ผ่านมาจ่ายหน่วยละ 2,000 บาท และจะเพิ่มเป็นหน่วยละ 8,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า เนื่องจากเป็นการจ่ายแบบ “อัตราก้าวหน้า” เหมือนกับกลุ่มที่ 2 กลุ่มนี้ก็จะสามารถลดอัตราค่าธรรมเนียมถ้ามีการลดปริมาณขยะที่ส่งให้กทม. ได้เช่นกัน

อาจจะสงสัยว่าทำไมสำหรับกลุ่ม 1 กับ 2 เราเพิ่มอัตรา 3 เท่า แต่กลุ่ม 3 เราเพิ่ม 4 เท่า มี 2 เหตุผลหลัก คือ กลุ่ม 3 เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่จะมีประสิทธิภาพในการลดขยะมากกว่าอีก 2 กลุ่ม ถ้ามีการคัดแยกขยะแล้วมีปริมาณรีไซเคิลอยู่มาก จะสามารถขายได้ มีคนพร้อมมารับซื้อ ส่วนเศษอาหารถ้ามีปริมาณมากก็มีเกษตรกรพร้อมมารับถึงที่  อีกประเด็น เรามองว่า การเพิ่มค่าธรรมเนียมสำหรับประชาชนทั่วไป และเอสเอ็มอี ในอัตราที่เท่ากับเอกชนรายใหญ่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรม

ประเด็นที่ 2 คำถามสำคัญที่หลายคนถามคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าใครแยก ไม่แยก? เรื่องนี้ก่อนอื่นต้องให้ข้อมูลว่า กทม.จะมีเวลา 180 วันระหว่างวันที่ราชกิจจาฯออกกับวันบังคับใช้อัตราใหม่ ที่ทางกทม. จะออกระเบียบ จัดทำระบบรองรับ ซึ่งได้มีการเตรียมมาก่อนเสนอข้อบัญญัติอยู่แล้ว ที่สำคัญจะต้องสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจเรื่อย ๆ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแยกขยะ “บ้านนี้ไม่เทรวม” + การส่งหลักฐานผ่านระบบที่เตรียมไว้ + จะมีแจกอุปกรณ์ส่งเสริมการคัดแยกที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สังเกตง่ายขึ้น

ประเด็นที่ 3 ที่ถูกพูดถึงเยอะ ทำไมถึงต้องเพิ่มอัตรา?  ประเด็นหลัก เป็นผลจากอัตราปัจจุบันทำให้สัดส่วนของรายจ่ายด้านจัดการขยะต่างกับรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างมาก หากให้เปรียบเทียบให้เห็นได้ชัด ค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะ เทียบกับรายได้ค่าเก็บขยะจากอัตราปัจจุบัน โดยค่าบริหารจัดการขยะทั้งหมดต้องใช้งบประมาณ เกิน 7,000 ล้านบาท แต่จัดเก็บอยู่ที่ 522 ล้านบาท  ซึ่งค่าใช้จ่าย 1 บ้าน ในกทม. เท่ากับ 9.12 บาทต่อวัน แต่ปัจจุบันเราเก็บบ้านละ 0.67 บาทต่อวัน  โดยขยะ 1 กิโลกรัม กทม. มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2.28 บาท แต่อัตราปัจจุบันเก็บเพียง 0.1675 บาท เท่ากับว่ากทม. จ่ายอยู่ 93% ส่วนประชาชนจ่ายเพียง 7% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดตอนนี้อัตราที่ต่ำทำให้ภาระตกอยู่ที่ท้องถิ่นหมด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจเพราะอัตราต่ำ และไม่มีแรงจูงใจให้ลดหรือคัดแยกขยะ

ทั้งนี้เป็นการสื่อสารถึงที่มาและหลักคิดของมาตรการนี้ หลังจากนี้ทางกทม.จะมีการชี้แจงให้ข้อมูลและสื่อสารรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไป ที่สำคัญกทม.ย้ำนักย้ำหนาให้ประชาชนเชื่อมั่น รถขยะกทม.ไม่เทรวมแล้วจริง ๆ นะ.