การเมืองก็ยังวนเวียนอยู่เรื่องประชามติ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ สส.หัวเขียง ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ กล่าวว่า การประชุม กมธ.ร่วมในวันที่ 6 พ.ย. จะขอหารือลดหลักเกณฑ์จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิที่กำหนดต้องมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง เพราะถ้าเป็นการทำประชามติเรื่องที่ประชาชนไม่สนใจ อาจทำให้ประชามติเป็นโมฆะได้ อาจปรับจำนวนผู้ออกมามาใช้สิทธิเหลือ 20-30% จะทำได้หรือไม่

“ยังไม่ทราบว่า สว.จะตอบรับหรือไม่ หากต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดยืนตัวเอง อาจจะต้องพักร่างกฎหมายฉบับนี้ 180วัน เพื่อยืนยันเนื้อหาตามร่างเดิมของ สส.ที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว แต่อย่าเพิ่งคิดล่วงหน้าว่าจะทำให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ทันรัฐบาลนี้” นี่คือน้ำเสียงที่ค่อนข้างชัดว่า ถ้าไม่พบกันครึ่งทาง พร้อมหักไปใช้ร่างของ สส.

เมื่อถามถึงแนวทางนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะให้ทำประชามติ 2ครั้งนั้น เรามีเป้าหมายเช่นนี้ แต่จะใช้วิธีใดดำเนินการยังไม่รู้ ต้องคุยกันให้รอบคอบ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่ก็คงไปห้ามความคิดใครไม่ได้

ทั้งนี้ หากเป็นการทำประชามติ 3 ครั้ง คือ 1. การถามประชาชนว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยแก้ไข ม.256 หรือไม่ ครั้งที่ 2 คือเอาวิธีแก้รัฐธรรมนูญใหม่ หรือ ม.256 ที่แก้ไขแล้ว มาทำประชามติถามประชาชนอีกว่าจะยอมรับหรือไม่ และครั้งที่ 3 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ประชามติว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่

สส.มุ่ง อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำประชามติว่า เรื่องนี้เคยเสนอเข้าสู่สภาแล้ว และที่ประชุมเคยมีมติว่า เราต้องปฏิบัติตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติว่า หากจะแก้ไขมาตราใด ต้องทําประชามติอีกครั้งด้วย ดังนั้นหลักการของพรรค รทสช. คือต้องทําตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากแก้ไขไม่ทันรัฐบาลนี้ เราก็ต้องชี้แจงกับประชาชนว่าเหตุผลเกิดจากอะไร คิดว่าประชาชนจะเข้าใจ ดีกว่าไปดันทุรังแก้โดยที่ผิดกฎหมายและถูกร้องเรียนให้เป็นปัญหาได้ในภายหลัง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า หากเพื่อไทยใช้แนวทางประชามติ 2 ครั้ง เชื่อว่าสภาจะไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นญัตติไม่ชอบ ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หากจะแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ทำประชามติ ต้องแก้รายมาตรา

ปัญหาต่อมาที่กระเทือนรัฐบาลคือ MOU44 เรื่องการจัดการผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย – กัมพูชา ซึ่งฝ่ายเพื่อไทยก็ย้ำอยู่ 2 ข้อ คือ 1. ไม่เกี่ยวกับเรื่องเสียเกาะกูด เพราะเกาะเป็นของไทยตามสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสแล้ว และ 2.MOU44 เป็นแค่ข้อตกลงกว้างๆ ซึ่งจะต้องมีการเจรจาอีกครั้ง แต่ตอนนี้ถูกเอาไปกระพือเป็นการแสขายชาติ

จากกรณี MOU44 การออกกฎหมายประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจไม่ทันรัฐบาลนี้ ทำให้ “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด มาหารือถึง 2 เรื่องดังกล่าว ที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 4 พ.ย. เวลา 13.30 น. คาดว่าคงมีความชัดเจน ว่าจะชี้แจงเรื่อง MOU อย่างไร จะเจรจาจริงๆ ตอนไหน และรัฐธรรมนูญจะมีกระบวนการอะไรให้ทันในรัฐบาลนี้หรือจะยกเป็นวาระของรัฐบาลหน้า

ประเด็นร้อนสะเทือนนายกฯอิ๊งค์อีกเรื่องคือ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ที่มี “สส.ใบพลู” รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. เป็นประธาน กมธ. ได้มีมตินัดประชุม วันที่ 7 พ.ย. เวลา 09.30 น. พิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กรณีกรมราชทัณฑ์ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

กมธ. จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ. ได้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผช.ผบ.ตร. พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนที่น่าจะเป็น “โจทก์ใหญ่” คือบิ๊กตู่ใหญ่ เสรีพิศุทธ์

เกี่ยวกับคะแนนบุคคลทางการเมือง สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือน ต.ค.สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,136 คน ใช้วิธีออนไลน์และภาคสนาม ระหว่างวันที่ 25-30 ต.ค. 2567 มีตัวชี้วัด 25 ประเด็น แต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน สิ่งที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.34 คะแนน แต่คะแนนลดลงจากเดือน ก.ย. ( 5.41 ) สิ่งที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.58 คะแนน

นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ 52.81% รองลงมาคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก ฯ และ รมว.มหาดไทย 26.40% ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรค ปชน. 37.80% รองลงมา คือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.34.36% ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ มาตรการช่วยน้ำท่วม 40.15% ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล 49.76%

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ผลงานของนายกฯ พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการทำงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการตอบสนอง ปัญหาของประชาชนอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางด้วยเงินหมื่น มาตรการบรรเทาภัยน้ำท่วม ลดค่าไฟ หรือการแก้ไขปัญหาเชิงรุกในหลายด้าน ซึ่งทั้งหมดได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น สวนทางกับคะแนนผลงานของฝ่ายค้านที่ปรับตัวลดลงในรอบ 10 เดือน สะท้อนถึงความไม่แน่นอนในการดำเนินงาน แม้ประชาชนจะชื่นชมการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ก็ยังไม่สามารถดึงความสนใจในวงกว้างได้

ในช่วงนี้ มีการแข่งขันสนามท้องถิ่นคือ เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) จากที่ลาออกไปหลายจังหวัด เพราะกลัวติดเงื่อนไขเรื่องการใช้จ่าย 180 วันก่อนเลือกตั้ง ( ตามวาระคือเลือกตั้ง กพ.68 ) ว่า อย่างไหนจะถูกนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้งบ้าง บางคนก็เห็นว่า ช่วง 3 เดือนนั้นจะดำเนินนโยบายอะไรไม่ได้ จึงลาออกมาลงใหม่

ที่ จ.อุดรธานี “หัวหน้าเท้ง”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ไปช่วยนายคณิศร ขุริรัง หรือทนายแห้ว ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรค ปชน. เปิดเวทีปราศรัยย่อยรณรงค์หาเสียง หัวหน้าเท้งบอกว่า หลังจากนี้ทาง ปชน.จะส่งคนลงสมัครชิงนายก อบจ.ทั่วทุกภูมิภาคอย่างแน่นอน ในวันที่ 18 พ.ย. 67 ทางพรรคเราก็จะเปิดตัวผู้สมัครที่ชั้น 7 อาคารอนาคตใหม่ และแถลงว่าจะลงสมัครในจังหวัดไหนบ้าง

ที่ จ.สุโขทัย วันที่ 3 พ.ย.มีการเลือกนายก อบจ. มีผู้สมัครทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย นายมนู พุกประเสริฐ อดีตนายก อบจ.สุโขทัย นายโด่ง แสวงลาภ อดีตผู้สมัคร สส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายวศินภัทร์ กิตตินันท์พาณิช อดีตผู้สมัคร สส.พรรคก้าวไกล แต่ไม่ได้ลงในนามพรรคประชาชน ซึ่งผู้ที่น่าจะได้เก้าอี้ คือนายมนู พุกประเสริฐ พี่ชายของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภริยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข

ส่วนที่ จ.ขอนแก่น แข่งขันระหว่างนายวัฒนา ช่างเหลา บุตรชายนายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และนายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ อดีตนายก อบจ.ซึ่งว่ากันว่า เสียงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยในพื้นที่แตก แกนนำพรรคหลายคนสนับสนุนนายพงษ์ศักดิ์