เมื่อวันที่ 3 พ.ย.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่กมธ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนเครือข่ายคนรักช้าง ขอให้ตรวจสอบ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่ (Elephant Nature Park : ENP) เกี่ยวกับการบริหารจัดการ สวัสดิภาพสัตว์ การอพยพเคลื่อนย้ายที่ล่าช้ากรณีเกิดอุทกภัยจนทำให้ช้างล้มไป 2 เชือก รวมถึงประเด็นประโยชน์ทับซ้อนระหว่างมูลนิธิและบริษัท ENP โดยมีการประชุมเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วยตัวแทนฝั่งผู้ร้อง ฝ่ายปกครองคือนายอำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และตัวแทนสรรพากรในพื้นที่ทั้งในส่วนของจังหวัดและภาค แต่น่าเสียดายที่ทางมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มาชี้แจงและไม่ได้ส่งตัวแทนให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ ด้วย โดยแจ้งเหตุผลว่าติดภารกิจฟื้นฟูพื้นที่หลังเหตุการณ์น้ำท่วม
นายกรวีร์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้ซักถามหน่วยงานที่มาชี้แจงซึ่งได้รับคำตอบในหลายประเด็น แต่ยังมีหลายเรื่องที่ไม่มีใครรู้ข้อมูลจริงๆ นอกจากเจ้าของปางช้างดังกล่าว เช่น กรณีที่สังคมสงสัยว่าทำไมไม่มีการเคลื่อนย้ายช้างออกมาจากพื้นที่ ทั้งที่ได้รับการแจ้งเตือนเหตุน้ำท่วมแล้ว ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้ โดยอำนาจของ กมธ. หน่วยงานดังกล่าวเป็นมูลนิธิฯ จึงขึ้นอยู่กับทางกรมการปกครองในการตรวจสอบ ซึ่งทางกมธ.ได้ฝากให้นายอำเภอแม่แตงและทางปศุสัตว์ติดตามตรวจสอบในหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นการทรมานสัตว์ และเรื่องมาตรฐานของปางช้าง ว่าดำเนินการได้ถูกต้องหรือไม่และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้รายงานกลับมายังกมธ. ต่อไป
นายกรวีร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธินั้น ได้รับการยืนยันจากฝ่ายปกครองพบว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ในส่วนของสรรพากรนั้นระบุว่าเขาดูเฉพาะในส่วนรายได้ที่ต้องแจงภาษี แต่เงินรายได้ที่มาจากการบริจาค หรือการเก็บค่าบำรุงสมาชิก รายได้พวกนี้เป็นรายได้ยกเว้นของมูลนิธิที่ไม่ต้องยื่นภาษี ดังนั้นรายได้ที่เขาต้องมาแจกแจงจึงเป็นรายได้จากการขายของ การขายทัวร์ ซึ่งรายได้ส่วนนี้ของมูลนิธิมีไม่มาก แต่รายได้ส่วนใหญ่ของมูลนิธิดังกล่าวมาจากการบริจาค สรรพากรจึงไม่ได้มีข้อมูลของมูลนิธิในส่วนนี้มากนัก อย่างไรก็ตามในส่วนนี้มีผู้ร้องว่าโอนเงินบริจาคไป แต่ได้รับใบเสร็จ ไม่ตรง และไม่ครบถ้วน จึงฝากให้ทางสรรพากรพื้นที่ตรวจในประเด็นนี้ต่อไป
นายกรวีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นในเรื่องของเงินบริจาค และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในปางช้างของมูลนิธินั้นจะต้องยื่นบัญชีรายรับ รายจ่ายต่าง ๆ ให้กับนายอำเภอ ในฐานะที่เป็นนายทะเบียนและกำกับดูแล ซึ่งทางกมธ.ได้ติดตามว่าเขายื่นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งนายอำเภอพบว่าที่ผ่านมามีการยื่นทุกปี อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นในส่วนของบริษัทที่ทางสรรพากรระบุว่าดูแล้วมีความผูกพัน มีความสัมพันธ์โยงใยกับทางมูลนิธิ เช่น กรรมการบางคนมีส่วนพันกันอยู่ จึงฝากประเด็นไปให้ตรวจสอบ เพราะรายได้จากการขายทัวร์ของ ENP ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ที่มีรายได้หลักจากการรับทัวร์ รับนักท่องเที่ยว
“จึงฝากให้นายอำเภอแม่แตงตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ถ้าเขามีรายได้จากนักท่องเที่ยว แต่มูลนิธิซึ่งเป็นเจ้าของช้าง และเจ้าของสถานที่ได้ประโยชน์อะไรบ้าง มีการใช้สินทรัพย์ของมูลนิธิไปเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่ เพราะเงินของมูลนิธิมาจากการบริจาคของประชาชนทั้งในและต่างประเทศ และรายได้ของบริษัททัวร์ที่เข้ามานั้นมีความโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งน่าเสียดายที่เจ้าของปางช้างไม่ได้มาชี้แจง จึงไม่มีใครให้คำตอบได้ ซึ่งกมธ.จะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอแม่แตง และสรรพากรพื้นที่ ติดตามตรวจสอบและทำรายงานกลับมายังกมธ.ต่อไป”นายกรวีร์ กล่าว.